น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ.2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอ ซึ่งเป็นผลสำรวจโดยจัดเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชน 46,600 ราย ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-12 ก.ค. 65 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต 7 ด้าน โดยสรุปผลสำรวจได้ ดังนี้
1. การวางแผนด้านการเงิน
พบว่า ประชาชน 73.2% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ ฝากธนาคาร/สถาบันการเงินอื่น, เก็บเป็นเงินสด และเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ต่างๆ ขณะที่ 26.8% ระบุว่า ไม่มีการวางแผนด้านการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผนด้านการเงินในสัดส่วนที่สูงที่สุด
2. การวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ
พบว่า ประชาชน 74% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ ทำงานหรือประกอบอาชีพเดิมต่อไป เนื่องจากมีความมั่นคงสูง, หาแหล่งรายได้เสริม เช่น ทำงานล่วงเวลาและทำอาชีพเสริม และประกอบธุรกิจส่วนตัว ขณะที่ 26% ระบุว่า ไม่มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการวางแผน โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพในสัดส่วนที่สูงที่สุด
3. การวางแผนชีวิตครอบครัว
พบว่า ประชาชน 72.7% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว, ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและ/หรือวางแผนการศึกษาให้บุตรและคนในครอบครัว และทำประกันชีวิต ขณะที่ 27.3% ระบุว่า ไม่มีการวางแผนชีวิตครอบครัวเนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต
4. การดูแลสุขภาพตนเอง
พบว่า ประชาชน 89.4% มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง 3 อันดับแรก ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น มังสวิรัติ วิตามิน และคอลลาเจน ขณะที่ 10.5% ระบุว่า ไม่มีการดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากคิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพ และไม่มีเวลา โดยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีการดูแลสุขภาพในสัดส่วนที่สูงที่สุด
5. การวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี
พบว่า ประชาชน 76.5% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่น, เลือกที่อยู่อาศัยที่ไม่แออัด และเลือกที่อยู่อาศัยที่สะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่ 23.5% ระบุว่า ไม่มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่สูงที่สุด
6. ความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน/หมู่บ้าน
พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำดื่ม ไฟฟ้า และอาหาร 76%, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 72.9% และความช่วยเหลือจากคนในสังคม เช่น เพื่อนบ้านและคนในชุมชน/หมู่บ้าน 61.1%
7. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ
พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ควรลดค่าครองชีพ 65.5%, ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริม 54.7% และควรจัดหาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ 48.3%
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ ได้แก่
- ควรให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การลดค่าครองชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้ประชาชนและจัดหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
- ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคตด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงินและด้านการทำงาน/อาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อย กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา และกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ในการมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการรู้จักวางแผนการออม
- ควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน/หมู่บ้าน เช่น เพิ่มสถานที่จำหน่ายสินค้าของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะทำให้ชุมชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
- ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารในการแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ข้อมูลผลสำรวจดังกล่าวจะนำไปใช้ในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการจัดการตนเองและเตรียมความพร้อมของประชาชน ทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม