เตรียมรับมือฝนตกชุกภาคใต้-เพิ่มแก้มลิงแก้น้ำท่วมรับน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Thursday December 1, 2022 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2565 ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน โดยในช่วงกลางเดือน ต.ค. 65 จนถึงกลางเดือน ก.พ. 66 ภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งได้มีการใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนพยากรณ์ในระบบ One Map วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

และวานนี้ (30 พ.ย.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงได้ติดตามแนวทางทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลาง ปี 2565

โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ติดตาม การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลางให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ รวมถึงสามารถปรับแผนการระบายน้ำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีในกรณีที่มีการประเมินหรือคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะวิกฤติ โดยคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางได้การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนคาดการณ์และกำหนดแผนการระบายน้ำให้สามารถลดผลกระทบและความเสี่ยงได้มากที่สุด โดยตลอดเดือน ธ.ค. 65 มีแผนการระบายน้ำวันละ 8 - 12 ล้านลูกบาศก์เมตร และปรับลดตามสถานการณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและสภาพอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการปี 65-68 คือการตัดปริมาณน้ำหลากส่วนเกิน 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมอบหมายให้มีการเร่งดำเนินการควบคู่กับการดำเนินการโครงการ 9 แผนหลักลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

นับเป็นการเพิ่มเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลากของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้มีการเสนอต่อ กนช. ให้ความเห็นชอบต่อไป

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล ลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 65/66 ที่ผ่านมา สทนช. ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบและดำเนินการตาม 10 มาตรการ รวมถึงรับทราบข้อมูลคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจให้สอดคล้องกับมาตรการและรายงานผลการดำเนินการส่ง สทนช. เพื่อรายงานผลให้ กนช. ทราบและนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป โดยที่ประชุมมีมติให้ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการฯ ทั้ง 10 มาตรการให้ สทนช. รับทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการต่าง ๆ เป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ