นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีรายงานข่าวเด็กอายุ 6 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตที่จังหวัดนครราชสีมานั้น กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบกับไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จึงทำให้มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นลง และมีการเปิดเทอม รวมถึงมีวันหยุดยาว ประชาชนจึงเดินทางออกไปทำกิจกรรมต่างๆ
สถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 9 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ (5 เมษายน - 11 พฤศจิกายน 2565) พบว่า ประชาชนฉีดเข็มที่ 1 (ร้อยละ 75.56) เข็มที่ 2 (ร้อยละ 71.3) เข็มที่ 3 (ร้อยละ 33.8) เข็มที่ 4 (ร้อยละ 5) จึงขอแนะนำกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนแล้ว เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลศูนย์ได้ทุกวัน
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนเมื่อติดโควิดมีโอกาสป่วยหนักเนื่องจากเกิดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบของอวัยวะภายในในเด็ก (Multisystem inflammatory syndrome in children: MIS-C) จนมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่วัคซีนสามารถป้องกันภาวะการป่วยนี้ได้ จึงขอให้ผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนโดยเร็ว ทั้งเด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี (วัคซีนฝาสีแดง) และอายุ 5-11 ปี (วัคซีนฝาสีส้ม) เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันในช่วงฤดูหนาวที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และขอย้ำว่า วัคซีนสำหรับเด็กเล็กฝาสีแดงมีประสิทธิภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ยังไม่พบเด็กมีอาการแพ้วัคซีนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ขอแนะนำมาตรการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 ดังนี้
1) ประชาชนควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ 4 เข็ม ซึ่งสามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2) กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว สามารถรับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibodies; LAAB) ซึ่งจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีหลังฉีด
3) สำหรับผู้ที่ไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้สูงอายุที่ยังไม้ได้ฉีดวัคซีน
4) กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว ให้งดทานข้าวร่วมกับผู้อื่น หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากาก
5) ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และรถโดยสารขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19