นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เริ่มชะลอตัวลง ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ สำหรับผู้เสียชีวิตทุกรายยังอยู่ในกลุ่ม 608 และเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือน
มาตรการในช่วงนี้จึงยังต้องเร่งรัดเชิญชวนกลุ่ม 608 รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3-4 เดือน ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามหลัก "4 เข็ม 4 เดือน" คือ รับให้ครบ 4 เข็ม หากเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือน ให้มารับวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ได้กำชับสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า ให้บริการประชาชนทุกคนที่เข้ามาขอรับบริการ อย่ากังวลเรื่องการสูญเสียวัคซีนจนเกินไป รวมถึงให้จัดจุดบริการเพิ่มขึ้นและหน่วยฉีดเชิงรุก ส่วนพื้นที่ กทม.ได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ช่วยเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ครบถ้วน
"สิ่งสำคัญคือ ขอให้มารับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม และฉีดตามกำหนด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องห่วงว่าจะรอวัคซีนรุ่นใหม่ เนื่องจากการนำมาฉีดกระตุ้น ไม่ได้ให้ผลแตกต่างกว่าการฉีดวัคซีนรุ่นเดิมมากนัก และเชื้อยังมีการกลายพันธุ์ย่อยๆ อย่างต่อเนื่อง วัคซีนที่ผลิตออกมา จึงไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส" นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับมาตรการป้องกันตนเองยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะการสวมหน้ากากเมื่อมีอาการในระบบทางเดินหายใจ หรืออยู่ในที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในกลุ่มต่างๆ ทั้งสถานพยาบาล ตลาด แรงงานต่างด้าว ชุมชนแออัด เป็นต้น หากมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจะแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ
ส่วนในปี 2566 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าสถานการณ์ไม่น่าแตกต่างจากเดิม โดยจะยังพบการระบาดในลักษณะ Small Wave เชื้อโรคอาจมีการกลายพันธุ์ย่อยๆ เล็กน้อย ขณะที่คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ยังคงต้องให้วัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ