นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรด และผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนตลาดโลก 32% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 22% ซึ่งพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุด และมีโรงงานสับปะรดมากที่สุด คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นเสมือนมหานครสับปะรดของไทยและของโลก
ดังนั้น การบริหารจัดการสับปะรดเชิงโครงสร้างและระบบ และการกำหนดแผนและเป้าหมายการเป็นมหานครสับปะรดของโลก ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ได้ปรับแผนเดิมเป็นแผนใหม่รับมือวิกฤติโควิด-19 เรียกว่าแผนพัฒนาสับปะรด ปี 2563-2565 พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาสับปะรด 5 ปี (2566-2570) เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตการแปรรูปและการตลาด
สำหรับการขับเคลื่อนสำคัญในปีหน้า คือการจัดตั้ง "มหานครสับปะรด Pineapple metropolis" ที่ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิตหลักจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และการยกร่างกฎหมายการพัฒนาผลไม้เศรษฐกิจ (สับปะรด ทุเรียน ลำไย ฯลฯ) มีกองทุนพัฒนาผลไม้เป็นกลไกสำคัญ เพื่อยกระดับรายได้ของชาวไร่สับปะรด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสับปะรดตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรมูลค่าสูง
สถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 65 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลก และระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา 0.39%, 2.68% และ 2.27% ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 63 ถึงต้นปี 64 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น