คืบหน้า! วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์ไทย เร่งทดลองเฟส 3

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2022 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คืบหน้า! วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์ไทย เร่งทดลองเฟส 3

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เดินหน้าทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนเอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ในรูปแบบเข็มกระตุ้น ในอาสาสมัคร 4,000 คน ที่โรงพยาบาลนครพนม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ภายหลังจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วัคซีนวิจัยชนิด NDV-HXP-S สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรม (HXP-GPOVac) ขณะนี้ได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว และในวันนี้ (23 ธ.ค.) เป็นการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะดำเนินการที่โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม ในอาสาสมัครอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4,000 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มหลักมาแล้วจำนวน 2 เข็ม

หากการทดลองครั้งนี้ พบว่ามีศักยภาพในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตัวเองด้านวัคซีนของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โครงการวัคซีน NDV-HXP-S เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน PATH, Icahn School of Medicine at Mount Sinai (Icahn Mount Sinai) นิวยอร์ก, University of Texas at Austin (UT Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงงานผู้ผลิตวัคซีนใน 3 ประเทศ คือ บราซิล เวียดนาม และไทย

โดยวัคซีนต้นแบบมีการพัฒนามาจากนวัตกรรมการตัดต่อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาที่ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) ให้มีความคงตัวมากขึ้น ซึ่งโปรตีนหนามเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19

เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด NDV ถูกพัฒนาขึ้นโดย Icahn Mount Sinai ขณะที่ UT Austin เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี HexaPro และองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตวัคซีนวิจัยโควิด-19 ชนิด HXP-GPOVac จาก seed virus ที่ได้รับจากโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (Icahn Mount Sinai) โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เช่นเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

จากข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในปี 2564 และระยะที่ 2 ในปี 2564-2565 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมนี้มีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และข้อมูลดังกล่าวได้นำมาใช้ในการคัดเลือกสูตรตำรับที่เหมาะสมสำหรับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3

ซึ่งหากผลการศึกษาในระยะที่ 3 เป็นที่น่าพอใจ จะสามารถยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ในปี 2566 และกระจายวัคซีนสู่ผู้ใช้ได้หลังจากนั้น โดยองค์การเภสัชกรรม มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนดังกล่าวประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ