นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเริ่มชะลอตัวลง ยังจะพบการระบาดในลักษณะ Small Wave โดยกลุ่มที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 สูงสุดเป็น กลุ่ม 608 (95%) ทั้งหมดเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน ซึ่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
คำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 8/2565 วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้กลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข้ารับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถใช้วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ (mRNA bivalent) ในช่วงสถานการณ์โควิดขาขึ้นเวลานี้ เนื่องจากวัคซีน mRNA monovalent ยังมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน และลดความรุนแรงของโรคได้ดี
นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่มีการกล่าวอ้างผลวิจัยว่า "วัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 3 เข็ม ไม่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ" นั้น ขัดกับข้อเท็จจริงของผลการศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ที่พบว่าวัคซีนเข็มที่ 4 สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีมากกว่าการรับวัคซีนเพียง 3 เข็มมานานหลายเดือน เห็นได้จากอัตราการเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนมาแล้วเป็นเวลานาน และผู้ที่ได้รับวัคซีนตามกำหนด รวมทั้งเข็มกระตุ้น ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเมื่อติดโควิด ดังนั้น เป้าหมายหลักของกระทรวงสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นคือผู้ที่ได้วัคซีน 3 เข็มมาเกิน 4 เดือนแล้ว
ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 ของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เมื่อนำวัคซีน mRNA รุ่นใหม่ (bivalent) มาฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีน mRNA รุ่นปัจจุบัน (monovalent) อย่างน้อย 2 เข็ม สามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% และมีความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีน mRNA รุ่นปัจจุบัน รวมทั้งคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2565 แนะนำว่า สามารถใช้วัคซีน mRNA ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นทั้งรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบัน
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้รับวัคซีน 4 เข็ม โดยนับจำนวนเข็มรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด เนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงสูงจากการระบาดของโรค ประชาชนควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อได้ฉีดมานานแล้วเกิน 4 เดือนขึ้นไป ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น 608 หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคปอด หัวใจ มะเร็ง กินยากดภูมิต้านทาน ฯลฯ จะสร้างภูมิต้านทานได้ไม่ดี จึงยังมีความจำเป็นที่ควรจะได้รับการกระตุ้น เข็ม 4 และผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดีก็สามารถรับได้ตามความสมัครใจ ถ้าได้รับวัคซีนเข็ม 3 มานานมากแล้ว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณาถึงบริบทของประเทศที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ กลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข้ารับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ (mRNA bivalent) เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และลดความรุนแรงของโรคได้ดีไม่ต่างจากวัคซีนรุ่นใหม่
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการติดตามข้อมูลทางวิชาการ โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรอง และมีการออกคำแนะนำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นระยะๆ ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อลดการป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต และเน้นสื่อสารให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ทราบถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างน้อยคนละ 4 เข็ม เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้สูงเพียงพอ