นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานีและการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง จ.ปัตตานีและยะลา พร้อมระบุว่า กอนช.ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ (ONE MAP) จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า นับตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปีใหม่จะไม่มีฝนตกหนักเหมือนกับในช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับช่วงต้นปีหน้าระหว่างวันที่ 2-3 ม.ค.66 สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะกลับมาอีกครั้ง แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีตกหนักในบางแห่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจึงต้องเร่งพร่องน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา
โดยตั้งแต่วันที่ 27-29 ธ.ค.65 จะมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน จากเดิมเมื่อช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค.65 ระบายน้ำอยู่ที่ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยเขื่อนปัตตานีจะทำหน้าที่รับน้ำต่อจากเขื่อนบางลาง เพื่อควบคุมและบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนปัตตานีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณช่วงท้ายเขื่อนปัตตานีถึงตัวเมืองปัตตานีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา เขื่อนบางลางได้ทำหน้าที่หน่วงน้ำไม่ให้ไปซ้ำเติมพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม สามารถช่วยลดมวลน้ำจากปริมาณฝนที่ตกหนักที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีได้ และบรรเทาความรุนแรงผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลาและจ.ปัตตานี โดยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัย ได้กำชับให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยโดยเร็ว เร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ชำรุดเสียหาย ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาดให้สอดคล้องสถานการณ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้หารือท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ในการเตรียมเสนอแผนงาน/โครงการ อาทิ การศึกษาการตัดยอดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนปัตตานีเพื่อผันน้ำลงสู่ทะเลโดยไม่ให้ไหลเข้าผ่านตัวเมืองปัตตานี และการทบทวนตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ สิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือจุดที่ส่งผลต่อการไหลของน้ำ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป