ขอแสดงความยินดีกับคนไทยที่ผ่านปี 65 มาได้ เพราะถือว่ามีเรื่องราวหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย "อินโฟเควสท์" ได้คัดเหตุการณ์ใหญ่ใกล้ตัว ที่คาดว่าคนไทยต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากเหตุการณ์ดังกล่าว
- โควิดโอมิครอน : ช่วงปลายปี 64 ที่คนไทยกำลังรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตา ต้องมากุมขมับอีกครั้งในช่วงต้นปี 65 กับโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ซึ่งเจ้าโอมิครอนนี้ก็มีสายพันธุ์ลูกหลานออกมามากมาย อยู่กับคนไทยยาวๆ มาถึงปลายปี เริ่มตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5, BQ.1, XBB และล่าสุด BA.2.75 เกือบครองสัดส่วนในเมืองไทยแล้ว ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิดยังมีอยู่ต่อไป และยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด
- ฝีดาษลิง : คนไทยที่ต้องรับมือกับโควิดระบาดและกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ยังต้องมาเจอกับการระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้น กระทรวงสาธารณสุขไทย ตรวจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกวันที่ 21 ก.ค. และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันที่ 20 ต.ค. รายงานล่าสุดที่ 12 ราย อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มเติมในประเทศแล้ว แต่ต่างประเทศยังคงพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่อย่างต่อเนื่อง
- กัญชาเสรี : สายเขียวยิ้มหวาน! กับนโยบายกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดว่าสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น แต่ก็มีการโปรโมทอาหารจากกัญชาด้วย และเนื่องด้วย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีช่องโหว่ จึงมีประชาชนบางส่วนนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซื้อ-ขาย สูบกันข้างถนน กระจายทั่วเมือง ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงในสังคมขึ้น ล่าสุดการประชุมร่วมกับผู้แทนของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ในการแก้ไขปัญหาองค์ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดนเลื่อนและจะเข้าที่ประชุมอีกครั้งในปีหน้า วันที่ 4 ม.ค. 66
- น้ำท่วม : ฝนตกรถติด วลีเด็ดคนกรุง ปีนี้ไทยต้องเจอผลกระทบจากพายุหลายลูก ทั้งอัสนี มู่หลาน โนรู เนสาท ส่งผลให้ไทยต้องเจอฝนตกหนัก คนกรุงต้องเจอปัญหาท่อระบายน้ำไม่ทัน น้ำท่วมขัง รถวิ่งไม่ได้ และต้องเดินลุยน้ำ ไม่ต้องพูดถึงประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องเจอน้ำท่วมหนักกว่า น้ำมิดหัว มิดบ้านเป็นลูทีน สร้างความเสียหายให้บ้านเรือน และการเกษตรของประชาชนทุกปี ซึ่งล่าสุดภาคใต้เพิ่งเจอมรสุมหนักจนเกิดน้ำท่วม ยังอยู่ระหว่างฟื้นฟูบูรณะจากความเสียหาย
- สินค้าอุปโภคบริโภค : เงินบาทสองบาทก็มีค่า ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอขึ้นราคาซองละ 1 บาท เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้ขึ้นมานาน จากเดิม 6 บาท เป็น 7 บาท/ซอง นอกจากนี้ ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. น้ำหวาน กาแฟ เจ้าดังหลายเจ้า ก็แห่ปรับขึ้นราคาพร้อมกัน ตั้งแต่ 5-10 บาท/แก้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสู้กับต้นทุนที่แพงขึ้น
- ค่าครองชีพ : (ค่า FT ภาคธุรกิจ/พลังงาน ก๊าซ น้ำมัน/เงินเฟ้อ) ต่างพาเหรดกันขยับขึ้นหลังเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงมาก จากปัจจัยราคาพลังงานที่เป็นแรงกระแทกสำคัญ
- หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ : เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นให้ยุคดอกเบี้ยต่ำจบลง ซึ่งแบงก์พาณิชย์ไทยต่างทยอยปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ขึ้น
*ประเดิมเปิดปีกระต่าย?
- ค่ารถไฟ : 1 ม.ค. ฉลองปีใหม่ คนกรุงได้ของขวัญค่ารถไฟขึ้นราคายกแผง โดย BTS ปรับขึ้นราคาเป็น 17-47 บาท จากเดิม 16-44 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีทองปรับขึ้นราคา 1 บาท เป็น 16 บาทตลอดสาย จากเดิม 15 บาทตลอดสาย และรถไฟฟ้า MRT ปรับขึ้นราคาเป็น 17-43 บาท จากเดิม 17-42 บาท
- ค่าที่ดิน : 1 ม.ค. กรมธนารักษ์ ประกาศบัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562 โดยราคาประเมินที่ดินมีอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 8.93% และราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6.21% เมื่อเทียบกับรอบบัญชีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลา 7 ปี
- ดอกเบี้ยขาขึ้น : 1 ม.ค. จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เข้าสู่อัตราปกติ หลังลดเงินนำส่งเพื่อช่วยลดต้นทุนสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษในช่สงที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเห็นบรรดาธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายแห่ง คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 66 ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ในกรอบ 1.75-3.00% โดยเป็นการปรับดอกเบี้ยเพื่อให้มีความสอดคล้องกับทิศทางของเงินเฟ้อ และสภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังคาดว่าในปี 66 ยังต้องเจออีกหลายเหตุการณ์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้งหรือไม่ หรือจะเกิดโรคอุบัติใหม่ สถานการณ์การเมืองท่ามกลางแรงกระเพื่อมเพื่อช่วงชิงอำนาจ คงต้องตั้งสติเตรียมตัวให้พร้อมไว้ตลอด อย่าให้เหมือนกระต่ายในนิทานที่ประมาทจนแพ้เต่า