น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ.... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุ และการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อรองรับการสิ้นอายุใบสำคัญฯ เช่น ระยะเวลาการยื่นคำขอต่ออายุที่ผู้รับใบสำคัญฯ ต้องยื่นคำขอต่ออายุภายใน 1 ปี ก่อนวันที่ใบสำคัญฯ จะสิ้นอายุ กำหนดเอกสารหลักฐานในการยื่น ขั้นตอนและการดำเนินการของผู้อนุญาต และการให้ดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา จะมีอายุตราบเท่าที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นผู้ผลิต หรือนำ หรือสั่งยา เข้ามาในราชอาณาจักร หากไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี ให้ทะเบียนตำรับยานั้นเป็นอันยกเลิก แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขอายุใบสำคัญฯ โดย พ.ร.บ. ยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สิ้นอายุเมื่อครบ 7 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญฯ
ส่วนใบสำคัญฯ ที่ออกให้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ให้ทยอยสิ้นอายุ ดังนี้ 1) ที่ออกก่อนวันที่ 1 ม.ค.40 ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 5 ปี 2) ที่ออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.40-31 ธ.ค.50 ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 7 ปี และ 3) ที่ออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.51-ถึงวันที่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 9 ปี
ผลของข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาทยอยสิ้นอายุ เริ่มจากปี 2567 จะมีการสิ้นอายุ 4,135 ทะเบียนตำรับยา, ปี 2569 มีจำนวน 4,875 ทะเบียนตำรับยา และปี 2571 มีจำนวน 6,626 ทะเบียนตำรับยา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุ ตามร่างกฎกระทรวงนี้ จึงเป็นมาตรการควบคุมและดูแลยาที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์หรือสัตว์ให้มีคุณภาพและปลอดภัย อันจะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้ใช้ยา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าด้านยา รวมทั้งทำให้เกิดการปรับปรุงทะเบียนยาให้มีความทันสมัยตามหลักวิชาการอยู่เสมอ