นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางและมาตรการการรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยจะยึดหลักทางการแพทย์และการสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้มีการประชุมตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่าจะไม่ใช้มาตรการแบ่งแยกจำเพาะเจาะจง
โดยเรื่องนี้ทางกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานที่ดูแลหลัก และดำเนินการโดยปราศจากแรงกดดันว่าต้องทำเพื่อเศรษฐกิจ ไม่เคยมีการกดดันตรงนั้น มาตรการที่ทางกรมควบคุมโรคออกมาจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
"เราคิดแต่ในเรื่องของประสิทธิภาพและความสมดุลในทุกด้าน ที่สุดแล้วได้เอาเรื่องของการแพทย์และการสาธารณสุขมาเป็นที่ตั้ง อย่าคิดว่าไทยต้องเหมือนคนอื่น เรามีมาตรฐานของเราที่นานาชาติยอมรับ" นายอนุทิน กล่าว
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 เราดูแลรักษานักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย มาตรฐานดังกล่าวยังดำรงมาต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงที่เกิดโรคระบาด ถึงวันนี้ก็ยังดำรงไว้ซึ่งความโดดเด่นตรงนั้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน เนื่องมาจากระบบสาธารณสุขไทยที่ให้การรักษาทุกคนอย่างเท่าเทียม
นายอนุทิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขว่า ข้อเสนอมาตรการด้านสาธารณสุขรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่จะเสนอในวันที่ 5 ม.ค. นี้ คือ ก่อนเข้าประเทศไทยให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเพื่อลดการแพร่โรค และให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนมาตรการขณะพำนักในประเทศไทย จะให้คำแนะนำการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลา เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย Antigan Test Kit (ATK) และหากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาล
กรณีที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยและประเทศปลายทางมีนโยบายตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ แนะนำให้พักในโรงแรม SHA+ ซึ่งจะมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนออกจากประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการเฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ โดยให้ได้รับการตรวจด้วย ATK/PCR และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จะเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน กำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน ทั้งนี้ จะมีการสื่อสารถึงนักเดินทางเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการลดความเสี่ยง
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยในขณะนี้ มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลวันที่ 25-31 ธ.ค. 65 มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 2,111 ราย เฉลี่ย 301 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 529 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 352 ราย และผู้เสียชีวิต 75 ราย เฉลี่ย 10 รายต่อวัน
ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ ) ที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม เว้นระยะห่างทุก 4 เดือน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรับบริการวัคซีนเพิ่มขึ้น 277,206 โดส สะสม 145,928,256 โดส โดยเป็นเข็มแรก 82.7% เข็ม 2 ที่ 77.7% เข็ม 3 ที่ 38.9% และเข็ม 4 ที่ 9.1%
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีจีนเตรียมเปิดประเทศ จากการประมาณการนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 66) มีประมาณ 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทุกชาติรวมกัน คาดว่าม.ค. จะเข้ามา 60,000 คน ก.พ. 90,000 คน และมี.ค. 150,000 คน โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันยังมีเที่ยวบินจำกัด มีระยะเวลาในการขอทำหนังสือเดินทางและการขอวีซ่า และรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวนำกลุ่มทัวร์ออกนอกประเทศ ผู้เดินทางจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองและเป็นกลุ่มนักเดินทางระดับบนที่มีกำลังซื้อ
สำหรับการเตรียมการรับนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ผ่านมามีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่า ควรปฏิบัติตามแนวทางโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อกีดกันผู้เดินทางจากประเทศใดประเทศหนึ่ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามมาตรฐานโลกอยู่แล้ว ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขณะนี้มีการใช้เตียงระดับ 2-3 เพียง 5.2% และมีแผนเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดของโรคที่รุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เพื่อปรับมาตรการตามสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ด้วย