น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการดำนเนินงานของรัฐบาลด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในปี 2565 โดยนโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของรัฐอย่างทัดเทียมนั้น มีการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว 2,879 หน่วย พัฒนาทีมสนับสนุนศักยภาพสหวิชาชีพ จำนวน 3,367 คน
พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยสอบถามทั้งผู้ที่เคยเป็นใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และยังไม่เคยใช้บริการ โดยพบว่า ผู้ที่เคยใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิส่วนใหญ่ อยู่ในระดับที่มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ด้านเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการ , ด้านกระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการ , ด้านสถานที่อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ส่วนความพึงพอใจด้านคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารสุข ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้ทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน หรือ นโยบาย 3 หมอ โดยหมอคนที่ 1 หมอประจำบ้าน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. หมอคนที่ 2 หมอสาธารณสุข คือ บุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ หมอคนที่ 3 หมอครอบครัว คือ แพทย์ในโรงพยาบาล สำหรับ อสม.ที่ผ่านมามีการพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นสมาร์ท อสม. และ อสม. หมอประจำบ้าน โดยพัฒนาหลักสูตรและคู่มือการอบรมเพื่อยกระดับกว่า จำนวน 75,086 คน จากเป้าหมาย 75,086 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ที่สำคัญยังมีผลสำเร็จของ อสม. ในฐานะหมอประจำบ้าน ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้นกว่า 1.2 ล้านคน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อีกด้านที่มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากคือ โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยผ่านกลไกร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือ โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ เพื่อเป็นการดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จัดระบบบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ สามารถรับยาได้ในร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ จากผลดำเนินการปรากฏว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากในการเข้ารับบริการ โดยโครงการดังกล่าวสามารถลดระยะเวลารอรับยา ลดเวลาเดินทาง มีเวลาปรึกษาเภสัชกรเพิ่มขึ้น และลดความแออัดของสถานพยาลได้เป็นอย่างดี