น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) (ฉบับที่ 4) ซึ่งสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชี และอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP ครั้งที่ 4 จำนวน 2 รายการ ใน 2 หมวด คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ดังนี้
1. การจัดทำรายการยา ในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด เป็นการปรับรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP จำนวน 3,138 รายการ จากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด โดยปรับใหม่ ดังนี้
- ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ
- ประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ
ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงแล้ว จะส่งผลให้มีรายการยาทั้ง 2 ประเภท คงเหลือในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ
อย่างไรก็ดี การปรับปรุงรายการยาดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาของการเบิกจ่ายยา เนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้า จะทำให้ยาที่มีตัวยาสามัญชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อหรือไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นชื่อสามัญของยาแก้ปวด ลดไข้ แต่มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น ยี่ห้อ SARA ยี่ห้อ PARA GPO หรือยี่ห้อ PARACAP
2. ค่าธรรมเนียมแพทย์ ในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ เป็นการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ (ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์) เพื่อให้เป็นไปตามคู่มือแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมการแพทย์ ปี 2563 ของแพทยสภา โดยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เช่น
- การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 9,000 บาท จากเดิม 6,000 บาท
- การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 90,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท
- การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 2,250 บาท จากเดิม 1,500 บาท
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมแพทย์ (ค่าบริการวิชาชีพ) คิดเป็น 45% ของค่าบริการผู้ป่วย UCEP ทั้งหมด (ค่าบริการผู้ป่วย UCEP เช่น ค่าห้อง และค่าอาหาร ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ค่าทำหัตถการ และค่าบริการวิชาชีพ) ดังนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมแพทย์ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 13.5%