นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ทีป่ระชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66 ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ราคา 1,106.40 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่ราคา 1,070 บาท โดยการกำหนดราคาดังกล่าว จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายรับเพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ที่ราคา 474.17 บาท/ตันอ้อย
ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566 อยู่ระหว่างการพิจารณาจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงาน เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะมีขั้นตอนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และสรุปตัวเลขเสนอ กอน. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน. ได้มีการเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% โดยเน้นให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐ ดำเนินการเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทยในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะเดียวกัน ยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 65-15 ม.ค. 66 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 32 ล้านตันอ้อย และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 9.2 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 28.73%
นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า จากตัวเลขดังกล่าว โดยเฉพาะสัดส่วนการลักลอบเผาที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทั้งสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ได้รับกระทบจากการเผาไหม้ กระทบกับสุขภาพประชนชน และภาคการท่องเที่ยวโดยตรง และยังเป็นตัวเลขที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่า มีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพคนไทย
"กระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา โดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ" นายภานุวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลลักลอบเผาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ม.ค. 66 ยังพบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด ดังนี้ นครราชสีมา 1.2 ล้านตัน อุดรธานี 0.78 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 0.76 ล้านตัน ขอนแก่น 0.66 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 0.57 ล้านตัน ตามลำดับ
ขณะที่ 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ดังนี้ กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 1.83 ล้านตัน กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง (10 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 0.94 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 0.78 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเอราวัณ (2 โรง) 0.57 ล้านตัน ตามลำดับ