นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อสรุปสถานการณ์ คาดการณ์ ความร่วมมือ และการยกระดับมาตรการช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า สถานการณ์ฝุ่นล่าสุด ค่าฝุ่นรายชั่วโมงลดลงแล้ว เนื่องจากอากาศยกตัวสูงขึ้น และมีลมโฟลว์ โดยอากาศจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ปริมาณฝุ่นจะกลับมามากขึ้นอีกครั้งช่วงเย็นของวันที่ 26 ม.ค.นี้ ซึ่งประชาชนควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน AIRBKK และ Air4Thai ก่อนออกจากบ้าน เพื่อเตรียมตัววางแผน ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่นเดือนนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าเบากว่า และหลังเดือนก.พ. สถานการณ์ฝุ่นน่าจะเบาลง เพราะลมเปลี่ยนทิศ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มพบ Hotspots (จุดหรือบริเวณที่มีค่าความร้อนมากผิดจากปกติบนผิวโลก) จากการเผาในที่โล่ง เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ อาจไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ถึง 10% แต่ก็มีผลกระทบ โดยการเผาส่วนใหญ่จะอยู่ในปริมณฑล พัดเข้ามารวมกับฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซลที่สันดาปไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นที่มากขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งควบคุม
สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการควบคุมฝุ่นให้ลดลงมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเผาชีวมวลในกทม. มีการมอนิเตอร์ Hotspots ทุกวัน ถ้าพบการเผาจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปขอให้หยุดเผา ขณะเดียวกัน ก็มีการทำหนังสือถึงจังหวัดข้างเคียง เพื่อขอให้ควบคุมการเผาชีวมวล รวมไปถึงขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ในส่วนของมาตรการระยะยาว คือ ต้องเปลี่ยนการใช้รถยนต์ เป็นการใช้รถสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และรถที่ใช้น้ำมันที่ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กทม.ได้ใช้ Traffy fondue ให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเหตุ หากพบจุดปล่อยควันดำ หรือมีการเผา
ส่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องมลพิษ จะมีการประชุมในวันที่ 26 ม.ค. นี้ โดยจะเน้นเรื่องการสนับสนุน Ecosystem ระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า และการกำจัดมลพิษ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
"การดูแลเรื่องรถยนต์ในกทม. เป็นการดำเนินแผนระยะยาว ซึ่งกรมควบคุมมลพิษดูแลอยู่ เรื่องการปรับมาตรฐานเป็นยูโร 5 ซึ่งคาดว่า รัฐบาลจะประกาศใช้เดือนม.ค. 67 ซึ่งถ้าสามารถปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันให้ดีขึ้นได้ สันดาปก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องกำจัดต้นตอของฝุ่น ทั้งโรงงาน และรถควันดำต่างๆ โดยได้เพิ่มจุดตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น ทั้งไซต์ก่อสร้าง โรงปูน รถบรรทุก ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ ขอความร่วมมือเติมน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ" นายชัชชาติ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันที่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝุ่นจะมีจำนวนมาก อาจขอความร่วมมือให้ใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการก่อสร้าง และขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work from home: WFH) ในส่วนของโรงเรียนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นปิดโรงเรียน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ได้ต่อเนื่องเกิน 3 วัน
"ถ้าฝุ่น 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำแล้วว่า ถ้าเลือกได้ให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งก็ตั้งเป้าให้มีการทำงานที่บ้าน 60% แต่ถ้าไปถึง 75-100 มคก./ลบ.ม. ก็อาจต้องเข้มมาตรการขึ้น รวมทั้งเรื่องการจำกัดการเดินทางด้วย ซึ่งก็ต้องคุยกับกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าการกลับไปทำงานที่บ้าน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกคนมีประสบการณ์อยู่แล้ว และก็เป็นประโยชน์กับสุขภาพของทุกคนด้วย" นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ถ้าสถานการณ์ฝุ่นถึงระดับสีแดง หรือมีปริมาณมากขึ้น อาจต้องจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบด้านอื่นตามมาด้วย ด้านกรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการตั้งศูนย์เพื่อปรับรถดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สามารถนำเครื่องไปปรับให้สามารถเผาไหม้ได้ดีขึ้น
"ต้องช่วยกันดูการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ซึ่งก็จะถูกต้องอยู่ประมาณ 70% ขณะเดียวกัน ต้องลดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดฝุ่น และรู้จักป้องกันตนเอง หน้ากากป้องกันโควิด-19 ถ้าใส่ถูกต้องก็สามารถกันได้ถึง 60% ถ้าฝุ่นอยู่ที่ประมาณ 50-60 มคก./ลบ.ม. ก็จะเหลือแค่ 20 มคก./ลบ.ม. ช่วยบรรเทาความรุนแรงได้ นอกจากนี้ สำนักอนามัย จะมีการแจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบาง" นายชัชชาติ กล่าว
นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยกับ LINE ALERT ว่า จะมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านไลน์ LINE ALERT ถ้าค่าฝุ่นในกทม. เกินมาตรฐาน 10 เขต จาก 50 เขต หรือเป็นสีส้ม จะให้แจ้งเตือนประชาชนทันที หรือถ้า 1 เขต เป็นสีแดง ก็ให้แจ้งเตือนเช่นกัน
อนึ่ง ในช่วงสายวันนี้ กทม. ได้รายงานผลการตรวจวัดค่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ โดยตรวจวัดได้ 41-85 มคก./ลบ.ม. หรือค่าเฉลี่ย 57.8 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 61 พื้นที่