ZoomIn: "กรีนพีซ" ฟาด! ไทยแก้ PM2.5 ไม่ทันโลก ผลักดันกม.เปิดช่องประชาชนฟ้อง-จี้ปรับคำเตือนภัย

ข่าวทั่วไป Friday February 3, 2023 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก มักพบบ่อยในช่วงต้นปีที่เข้าสู่ฤดูหนาว ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะแก้ไข เพราะมาจากหลายเหตุ หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ, การเผาพืชผลเกษตร, สภาพจราจรที่แออัด รวมทั้งควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

NGO ยันเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้งรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ และกฎหมายอากาศสะอาด โดยหวังให้ภาครัฐใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดนโยบายแก้ปัญหามลพิษในแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการทำงาน การสั่งการของภาครัฐ ให้มีบทบาทอย่างแท้จริงในการจัดการต้นตอของมลพิษ

น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย มองปัญหาเรื่องนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรง แต่การแก้ปัญหาฝุ่นของไทยยังไม่หมดไป สาเหตุหลักมาจากความล่าช้าในการทำงานแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น เพราะมักจะจัดการเฉพาะพื้นที่ หรือในพื้นที่ตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้ถูกผลักดันขึ้นไปในระดับประเทศ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ครอบคลุมพื้นที่มากเท่าที่ควร

นอกจากนี้ ยังไม่มีการกระจายอำนาจแก้ปัญหาฝุ่นลงไปยังท้องถิ่น ทั้งที่ควรจะมีการกระจายอำนาจมากกว่านี้ เพราะแต่ละท้องถิ่นมีต้นเหตุของปัญหาไม่เหมือนกัน เช่น ภาคเหนือมาจากการเผาเป็นส่วนใหญ่ ส่วน กทม.มาจากการจราจร และการเผาในจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่ปัญหาในปริมณฑลส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น การแก้ปัญหาของแต่ละที่ก็ไม่ควรเหมือนกัน

อีกทั้งประเทศไทยมีมาถึง 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่น ส่งผลให้เกิดการอำนาจการทำงานที่ทับซับ หรือบางโครงการเกิดสุญญากาศ ไร้เจ้าภาพรับผิดชอบ ไม่มีคนสั่งการ หรืออีกกรณีคือบางหน่วยงานเห็นปัญหา แต่ไม่มีอำนาจจัดการ จึงเป็นสาเหตุให้การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในไทยล่าช้า นอกจากนี้การแก้ปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดค่อนข้างมาก หากปีใด ผู้ว่าฯ สนใจสนับสนุนเรื่องนี้มาก ปีนั้นการทำงานก็จะราบรื่น แต่หากผู้ว่าฯ ไม่สนับสนุน ก็เหมือนเป็นการปิดประตูแก้ปัญหา

*เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาฝุ่น

ในไทยมี พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกฎหมายแม่ และมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นอยู่บ้าง ซึ่ง "กรีนพีซ" มองว่ากฎหมายที่เป็นเครื่องมืออย่างจริงจังสำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจากใน พ.ร.บ. ดังกล่าว พูดถึงการแก้ไขปัญหาแต่เพียงบางจุดเท่านั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้หน่วยงานลงไปแก้ไขอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน มีการเสนอพ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่นเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้วทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่

1. ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ....

2. ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

3. ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR)

4. ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... ริเริ่มโดยเครือข่ายอากาศสะอาด เพื่อให้มีเจ้าภาพในการจัดการงานที่สามารถบูรณาการกับทุกกระทรวงได้ รวมถึงกระบวนการที่เชิญชวนให้เอกชนลดการเผา หรือปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อลดการเผามลพิษ และบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม เป็นต้น

5. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ซึ่งกฎหมาย 3 ฉบับแรก ถูกปัดตกไปแล้ว ยังเหลืออีก 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณารับรอง

กรีนพีซ, มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery Thailand: EARTH) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAWTHAI Foundation) จึงร่วมกันสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) และร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

PRTR เป็นกฎหมายที่เปิดเผย และรายงานการปล่อยและการขนเคลื่อนย้ายของสารมลพิษ ทั้งทางอากาศ น้ำ ดิน และกากอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนกฎหมายนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลว่า แท้จริงแล้วมีแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร และมีสารอันตรายอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำมาต่อยอดในการวางแผนนโยบายรัฐได้ว่าในแต่ละพื้นที่ จะบริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างไร

เนื่องจากปัจจุบัน ข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่นในไทยระบุว่าส่วนใหญ่มาจากการเผาในพื้นที่โล่ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มาเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 17% ซึ่งมองว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะประเทศอื่นที่มีการแก้ปัญหาฝุ่น มักระบุว่าฝุ่นมาจากภาคอุตสาหกรรม ในสัดส่วนสูงถึง 30%

"เกิดการตั้งคำถามว่าเป็นตัวเลขที่จริงหรือไม่ เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลย ตัวเลขที่กรมควบคุมมลพิษแจ้งออกมา ก็เป็นตัวเลขที่คาดการณ์จากเครื่องตรวจวัดของกรมฯ ไม่มีตัวเลขที่ทราบจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรมว่าจริงๆ แล้วปล่อยสารเคมีออกมาเท่าไร" น.ส.อัลลิยา กล่าว

ส่วน พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดฯ จะเป็นส่วนสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้กลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดระเบียบให้การสั่งการง่ายขึ้น และมีบทบาทในการจัดการต้นกำเนิดฝุ่นได้ง่ายขึ้น หลายประเทศที่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็สามารถแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น อังกฤษ อเมริกา เขาสามารถวางแผนงานในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ถึง 10-40 ปี ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ จะเข้ามาช่วยให้การวางแผนชัดเจน เปิดช่องให้ประชาชนใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานไม่เป็นไปตามแผน ทำให้การดำเนินการสามารถไปได้เร็วขึ้นด้วย

"หลังจากที่รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อสภาฯ แล้ว ถูกตีบทกฎหมายว่าเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมองว่าแทบทุกกฎหมายก็ต้องมีความเกี่ยวข้องหมดอยู่แล้ว ทำให้กฎหมายดังกล่าวต้องรอนายกฯ พิจารณาว่าจะให้ผ่านเข้าสภาฯ หรือไม่ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว คิดว่าไม่น่าทันในรัฐบาลชุดนี้ จึงจะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และมีการตั้งสภาฯ ใหม่เรียบร้อยแล้ว" น.ส.อัลลิยา กล่าว

*ปรับค่าเตือนภัยตาม WHO

นอกจากนี้ กรีนพีซ เรียกร้องให้ทางการแยกค่าเตือนภัยสุขภาพออกจากค่ามาตรฐาน เนื่องจากการใช้งานไม่เหมือนกัน การเตือนภัยด้านสุขภาพควรใช้ตัวเลขที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจริงๆ ซึ่งขณะนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม. แปลว่าฝุ่นที่มีค่าเกิน 15 มคก./ลบ.ม.เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ดังนั้น มาตรฐานของไทยยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการเตือนภัย

ทั้งนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.66 ที่กำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากปัจจุบัน ที่ค่ามาตรฐานจะอยู่ในระดับไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.

"อยากให้มีการปรับค่าเตือนภัยลงมา เพราะประชาชนจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วค่าฝุ่นที่อันตรายต่อร่างกายคือ 15 มคก./ลบ.ม. สำหรับค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เท่ากับค่ามาตรฐาน" น.ส.อัลลิยา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ