นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ว่า จะมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญถึงมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการฉีดพ่นละอองน้ำที่ยังไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และควรออกเป็นข้อบัญญัติเลยหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าการฉีดพ่นน้ำจะช่วยในเรื่องการรักษาความสะอาด และขจัดฝุ่น PM10 ก่อนที่จะแตกตัวเป็น PM2.5 ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น เพราะเมื่อหยุดฉีดพ่นละอองน้ำฝุ่นก็กลับมาอีก เพราะปริมาณฝุ่นมีมาก ดังนั้นจะต้องใช้น้ำในปริมาณมากหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตรหากจะให้ครอบคลุมพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร
โดยเมื่อวานนี้ได้ทดลองนำรถฉีดละอองน้ำบรรเทาฝุ่นและพบว่า ขณะฉีดน้ำค่าฝุ่นลดลง แต่เมื่อเลิกฉีดน้ำค่าฝุ่นก็กลับมาสูงเท่าเดิม และคงดูเป็นจุดๆไป
ทั้งนี้ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตการทำงาน เช่น การตรวจพื้นที่ก่อสร้าง, การตรวจโรงงานผลิตปูนซีเมนต์, การปรับปรุงแอปพลิเคชั่นเตือนภัยล่วงหน้าที่มีความชัดเจนแม่นยำ, การให้ความรู้แก่ประชาชนทำให้เกิดความตระหนักรู้กันมากขึ้น, การเปิดคลินิกระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 5 แห่ง, การแจกหน้ากากอนามัย
"ถ้าฝุ่นมาก็ต้องมีการเรียนรู้เรื่องไม่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีมาตรการแจ้งเตือน ที่ผ่านมามีการว่างแผนล่วงหน้ามา 3-4 เดือนแล้ว แต่สาเหตุหลัก 2 อันมาจากรถบรรทุกและการเผาชีวมวล ซึ่ง กทม.ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปเปลี่ยนให้เป็นรถอีวี หรือกำหนดมาตรฐานรถให้สูงขึ้น หรือเผาชีวมวลในต่างจังหวัดคงจะไปห้ามไม่ได้" นายชัชชาติ กล่าว