สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยืนยันว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย โทษหนักคุก 5 ปี ปรับเงิน 4 เท่า ของราคาสินค้า
บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564
นอกจากนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีนโยบายดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากุไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดทุกราย
- สำหรับกรณีผู้ขาย หรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า "บารากู่ บารากุไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากุไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ส่วนกรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากุไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย
นอกจากนั้น ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่