1. BF.7 จำนวน 1,147 คิดเป็น 4.6%
2. BQ.1 จำนวน 11,674 คิดเป็น 46.9% รวมถึง BQ.1.1 จำนวน 7,189 คิดเป็น 28.9%
3. BA.2.75 จำนวน 3,473 คิดเป็น 13.9% รวมถึง BA.2.75.2 จำนวน 35 คิดเป็นน้อยกว่า 1% และ CH.1.1 จำนวน 1,672 คิดเป็น 6.7%
4. XBB จำนวน 4,049 คิดเป็น 16.3% รวมถึง XBB.1.5 จำนวน 3,005 ลำดับ 12.1%
สำหรับสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า สัดส่วนสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในไทยคือ BA.2.75 คิดเป็นสัดส่วน 80-90% โดยจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว พบว่า เป็น BN.1 (ลูกหลานของ BA.2.75) ถึง 70-80% (พบมากสุดคือ BN.1.3 หรือลูกหลานของ BN.1) ซึ่ง BN.1 นั้นมีคุณสมบัติสามารถจับเซลล์ได้ค่อนข้างดี หรือสามารถแพร่กระจายได้เร็ว
สำหรับสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นลูกหลานของ BA.2.75 เช่นกัน โดยปัจจุบันพบสายพันธุ์นี้ใน 67 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบสายพันธุ์ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดพบสะสมทั้งหมด 206 ราย อย่างไรก็ดี สายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์ Evusheld และ Bebtelovimab และสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า BN.1
"แอนติบอดีสังเคราะห์ในบ้านเรายังใช้ได้ เพราะส่วนใหญ่ที่ระบาดเป็น BN.1 แต่ถ้าเป็น CH.1.1 ประสิทธิภาพอาจจะลดลงมา แต่ของไทยยังเจอ CH.1.1 ไม่เยอะ" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่พบมากในสหรัฐฯ สัดส่วน 70-80% ซึ่งหลายคนกังวลเพราะสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้สูง ขณะนี้ยังไม่พบในไทย ทั้งนี้ เนื่องจาก BN.1 และ XBB.1.5 มีความสามารถในการแพร่เร็วใกล้เคียงกัน ดังนั้น โอกาสที่ XBB.1.5 จะเข้ามาแทนที่ BN.1 อย่างรวดเร็วเป็นไปได้น้อย
อย่างไรก็ดี กรมฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่า อาจจะลดการตรวจหาสายพันธุ์เบื้องต้นจำนวนมากๆ แต่จะรอเก็บข้อมูลหลายสัปดาห์ เพื่อนำสายพันธุ์ไปถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์มากกว่า และตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเชื้อจำนวนมากแล้ว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในไทยว่า ปัจจุบันคนไทยได้รับวัคซีน และติดเชื้อไปค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้นจึงมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง โอกาสในการป่วยหนักจะลดลง และยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น เสียชีวิตเร็วขึ้น แต่อาจจะแพร่ได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของวัคซีน ข้อสรุปยังคงเดิมคือ วัคซีนไม่สามารถผลิตให้ตามทันการกลายพันธุ์ได้ ส่วนผลกระทบระยะยาวของวัคซีน เนื่องจากโรคโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ทันที ต่างจากอดีตที่ต้องใช้ระยะเวลาสรุปผลกระทบของวัคซีน 4-5 ปี ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ และต้องติดตามข้อมูลต่อไป
"เรายังต้องอยู่กับโควิดไปอีกระยะหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยหลักการของไวรัส ถ้าจำนวนติดเชื้อมากขึ้น โอกาสที่จะกลายพันธุ์ก็มี แต่ถ้าติดเชื้อวนๆ อยู่แบบนี้ มองว่าในเรื่องความรุนแรงไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว เรื่องการฉีดบูสเตอร์ ใครที่ฉีดไปหลายเข็มแล้ว จากสถานการณ์ในไทย ถ้าเราแข็งแรงดีให้รออีกสักระยะหนึ่ง ยังไม่ต้องเร่งฉีดบูสเตอร์ไปถึงเข็ม 6-7" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลังจากที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ยังไม่มีส่งสัญญาณพบการติดเชื้อมากขึ้น ในส่วนของประเทศจีนมีการติดเชื้อเฉพาะในประเทศ และพบว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในจีนคือสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในไทย ดังนั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่หากผู้ติดเชื้อจากจีนนำเชื้อเข้ามาในไทย