น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (66-70) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ พร้อมกับเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่ครอบคลุมการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดทุกระดับ และรายงานผลการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง (เดือนต.ค. - ธ.ค.ของทุกปี)
พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกรม หรือเทียบเท่า) บรรจุวิชาสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการทุกระดับ ตามขอบเขต และเนื้อหาหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
โดยที่แผนสิทธิมนุษยชนฯ ฉบับนี้ ได้นำประเด็นที่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์จากแผนฉบับเดิมมาดำเนินการต่อ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ปัญหาสิทธิในการทำงาน และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับคนไทย และคนต่างด้าวทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและสตรี เป็นต้น และประเด็นข้อห่วงกังวลและประเด็นท้าทายต่าง ๆ จากระดับพื้นที่ เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาการเคารพสิทธิผู้อื่น และการเคารพผู้เห็นต่าง
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 จำแนกออกเป็นแผนสิทธิมนุษยชนรายด้าน 5 ด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ และครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิรายกลุ่ม แบ่งเป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหายและเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ต้องหาผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV และผู้ป่วยจิตเวช
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยใช้เป็นกรอบทิศทางของหน่วยงานในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างสังคมที่ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน
สำหรับประเด็นท้าทายของแผนสิทธิมนุษยชนรายด้าน 5 ด้าน ที่จะมีการดำเนินการ คือ
1. เร่งจัดสรรที่ดินและแก้ไขปัญหา การเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน
2. ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในขั้นตอนต่าง ๆ ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้รับรู้สิทธิในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นการสอบสวน การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี
3. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"
4. ปรับปรุงมาตรการของรัฐในด้านต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
5. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
"เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 นี้ ครม. จึงเห็นชอบให้มีกลไกการดำเนินการและการติดตาม โดยให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีหน้าที่ในการสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนฯ จัดทำคู่มือในการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานที่ขับเคลื่อน มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และจัดให้มีช่องทางสื่อสาร เพื่อรับแจ้งปัญหา อุปสรรค หรือข้อขัดข้องในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชน" น.ส.ทิพานัน กล่าว