น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว หลังวันที่ 13 ก.พ.66 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 ที่เป็นแรงงาน 4 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ.66 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค.66 และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาถึงวันดังกล่าว เพื่อให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสาร เพื่อยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ครบถ้วนต่อไป
อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ยังต้องการแรงงาน เพื่อดำเนินกิจการในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยแรงงานยังอยู่ในกำกับและการบริหารของหน่วยงานรัฐ และแรงงานก็ยังคงได้รับการคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมาย ตามสิทธิที่พึงได้
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองของบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี จากวันที่ 13 ก.พ.66 ออกไปเป็นวันที่ 13 พ.ค.66 เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาประมาณ 300,000 คน อยู่ระหว่างการทำเอกสาร CI ส่วนทางการลาว และกัมพูชา หากประสงค์จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัวให้มีหนังสือผ่านช่องทางการทูต และสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยดำเนินการได้ถึงวันที่ 13 พ.ค.66
ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวยื่นเอกสารครบถ้วนตามกำหนดแล้ว ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ.67 หรือวันที่ 13 ก.พ.68 แล้วแต่กรณี
สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการออกแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว เนื่องจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 จำนวน 2,425,901 คน ประกอบด้วย 1) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจำนวน 1,719,231 คน และ 2) คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันอนุญาตให้ทำงานจำนวน 706,670 คน ตามมติ ครม. ได้กำหนดว่า หากคนต่างด้าวทั้ง 2 กลุ่มประสงค์จะทำงานต่อ จะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 13 ก.พ.66
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ได้มีการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 403,062 คน และยังไม่ดำเนินการยื่นคำขอ 2,022,839 คน เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วนตามแนวทางที่ ครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 กำหนดไว้ ได้แก่ อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่กับประเทศต้นทาง ตลอดจนเอกสาร CI จึงจำเป็นต้องมีการผ่อนผันให้คนต่างด้าวดังกล่าว ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และดำเนินการจัดทำเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาทิ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ออกประกาศหรือระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง, กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักแพทย์ กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงขั้นตอนการขยายประกันสุขภาพคนต่างด้าว ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและสะดวก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สอดคล้องกับมติ ครม. ตลอดจนดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลของคนต่างด้าว เป็นต้น