นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษา (18 กุมภาพันธ์ 2566) ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยมีความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษา และการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ 7 สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น
ทั้งนี้ ในท้ายกฎกระทรวง ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงเอาไว้ด้วยว่า...
ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตชาติ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงให้สถานศึกษาทุกระดับที่มีเด็กตั้งครรภ์ ต้องไม่ให้เด็กออกจากสถานศึกษา โดยต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมและต่อเนื่อง แต่ยังคงมีบุคลากรทางการศึกษารวมถึงผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่า การให้เด็กตั้งครรภ์เรียนร่วมกับเด็กทั่วไป เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ผลการศึกษาในต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่า เด็กคนอื่น ๆ จะเกิดความตื่นตัวมากขึ้นในการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันจะเกิดความรู้สึกเห็นใจเพื่อนที่กำลังท้อง และให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดีในขณะที่เรียนร่วมกัน
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของครูผู้สอนเป็นเรื่องสำคัญมาก ครูต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ต้องไม่ปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองเด็กให้ได้เรียนต่อเนื่องโดยไร้ความกังวล