ครม. ไฟเขียวแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลปี 66-70 มุ่งยกระดับบริการภาครัฐ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2023 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม. ไฟเขียวแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลปี 66-70 มุ่งยกระดับบริการภาครัฐ

ครม. เห็นชอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 ตั้งเป้าดันดัชนี EGDI ไทยขึ้นอันดับ 40 ของโลก พร้อมกำหนด 4 ยุทธศาสตร์ ยกระดับบริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและอนุมัติ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐ และการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ในส่วนของ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการบริหารงานของภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล และสามารถยกระดับการให้บริการประชาชนให้มีความสะดวกและเปิดเผยมากขึ้น โดยมีแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 10 ด้าน ได้แก่

(1) ด้านการศึกษา (2) ด้านสุขภาพและการแพทย์ (3) ด้านการเกษตร (4) ด้านความเหลื่อมล้าทางสิทธิสวัสดิการประชาชน (5) ด้านการมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน (6) ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (7) ด้านสิ่งแวดล้อม (8) ด้านแรงงาน (9) ด้านท่องเที่ยว และ (10) ด้านยุติธรรม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

  • เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลสาธารณะของรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ สามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน
  • เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการและการดำเนินงานภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว มีการบูรณาการแบบไร้รอยต่อ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
  • เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้หน่วยงานภาครัฐจัดทาแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 และสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย

2. ตัวชี้วัดความสำเร็จและค่าเป้าหมาย คือ ระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อการใช้บริการออนไลน์ภาครัฐไม่น้อยกว่า 85% และอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ของไทยไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก ซึ่งปัจจุบันอันดับของไทยอยู่ที่ 55 ของโลก

3. กลไกการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนสำคัญ คือ

  • กลไกด้านนโยบาย ที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
  • กลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินกิจกรรม หรือโครงการร่วมกันภายใต้แผนดังกล่าว
  • กลไกด้านงบฯ กำหนดเกณฑ์ในการอนุมัติงบฯ เพื่อให้การจัดสรรงบฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • กลไกการติดตามและประเมินผลโครงการ มีการพัฒนาชุดข้อมูลการดำเนินโครงการฯ ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวในการรวบรวมข้อมูล เพื่อตรวจสอบติดตามและประเมินผลโครงการของแผนรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ยุทธศาสตร์ 4 ข้อสำคัญ คือ

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น เช่น ภาครัฐดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยภายในปี 2570 ความสำเร็จของการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านสำคัญคิดเป็น 100%

ประกอบด้วยการพัฒนาที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านบริการพื้นฐาน (Common Services) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Foundation) รวม 14 โครงการ เช่น โครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ

  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย เพื่อประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างครบถ้วน ณ จุดเดียว (One-Stop Service) โดยภายในปี 2570 ระดับความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จในด้านสำคัญคิดเป็น 100%

ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน และด้านสิ่งแวดล้อม รวม 8 โครงการ เช่น โครงการแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ โครงการแผนที่สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของไทย (E-Workforce Ecosystem) โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลสิทธิสวัสดิการเพื่อการวิเคราะห์และอำนวยความสะดวกในการให้บริการ

  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มและอานวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ เพื่อผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการดิจิทัลของภาครัฐ โดยภายในปี 2570 ระดับความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการภาคธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จในด้านสำคัญ คิดเป็น 100%

ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตร ด้าน SMEs ด้านแรงงาน และด้านท่องเที่ยว รวม 7 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร โครงการหนึ่งรหัสหนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification: ID One SMEs)

  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย โดยภายในปี 2568 ความสำเร็จของการจัดให้มีช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านสำคัญคิดเป็น 100%

ประกอบด้วย แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 2 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน และด้านยุติธรรม รวม 9 โครงการ เช่น โครงการระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม Data Exchange Center โครงการภาษีไปไหน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าการวางโคงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาโดยตลอด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำด้านดิจิทัล ด้วยวิสัยทัศน์ คือ บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน ที่จะให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม และเพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

"มีโครงการที่ประสบความสำเร็จ และสร้างผลประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคมที่โดดเด่น เช่น พร้อมเพย์ และระบบภาษีออนไลน์ และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ.2563-2565 ที่กำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการ Digital Transcript เป็นโครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐทั่วไป ยังได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อการบริหารจัดการและการบริการประชาชนในวงกว้าง" น.ส.ทิพานัน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ