พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดหนองบัวลำภู ในระยะเร่งด่วน 3 เดือน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 65 ที่เห็นชอบมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นรูปธรรมต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
โดยกำหนดให้จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้นแบบต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด ภายใต้การใช้มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบชุมชนยั่งยืนที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ส่งผลการดำเนินโครงการฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้ในที่สุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานการดำเนินงานด้านต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-31 ก.) (แปลงเลขที่ 26 ระวาง 5443lll9806) สำหรับใช้ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์แห่งใหม่ ให้แก่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้กลับมายืนตรงนี้อีกครั้งด้วยความรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.65 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสูญเสียและความสะเทือนใจครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคน จะเห็นได้ว่ายาเสพติดเป็นส่วนประกอบของความรุนแรง และทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เสพ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ขอให้ทุกคนระลึกถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนและพระราชทานขวัญกำลังใจแก่พวกเราทุกคน
หลังเหตุการณ์ต่างๆ ได้ผ่านไปประมาณ 3 เดือนแล้ว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ สู่ระดับชุมชน ทั้งการปราบปราม ป้องกันและฟื้นฟู ค้นหาผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติมาโดยตลอด ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ลดลง หรือหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย โดยต้องบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังกำชับหน่วยงานให้เพิ่มความเข้มในการดำเนินการ และเพิ่มมาตรการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดออนไลน์ การสกัดกั้นยาเสพติดจากแนวชายแดน การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจค้นบุคคลยานพาหนะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกเส้นทาง ทำการสืบสวนขยายผลไปยังเครือข่ายหรือขบวนการที่กระทำความผิด เน้นการควบคุม การนำเข้า การส่งออกสารเคมีตั้งต้นที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด ให้เร่งติดตาม สืบสวนขยายผล และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ยุ่งเกี่ยว พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด จะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ทั้งทางวินัยและอาญาโดยไม่มีข้อยกเว้น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติดมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลไปดำเนินการกวาดล้างยาเสพติด โดยทุกข้อมูลจะดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า จังหวัดหนองบัวลำภู จะขยายการดำเนินการโครงการชุมชนยั่งยืนออกไปจนครอบคลุมทั้งจังหวัด ก้าวไปสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียนความสำเร็จของจังหวัดหนองบัวลำภู ไปดำเนินการในจังหวัดอื่น โดยสำนักงาน ป.ป.ส.พิจารณาจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้เพียงพอด้วย
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด และหวังว่าทุกคนจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่เขารับการบำบัดนี้ สามารถกลับมามีที่ยืนในสังคม เป็นพลเมืองที่มีคุณค่า และเป็นลูกหลานที่ดีในอ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับอำเภอของจังหวัดหนองบัวลำภู และทักทายประชาชนที่มาร่วมงาน พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยให้ทุกหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้โครงการ "หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติด" ในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน จังหวัดหนองบัวลำภู ครอบคลุมมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาด้วยแนวคิด Change for Good โดย "5 เสือพาพี่น้องทำความดี" ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และคุ้ม
2.จัดทำตู้ราชสีห์ผ่านระบบ QRCODE กระจายทุกหมู่บ้าน ตลาด ชุมชน สถานที่ราชการในทุกอำเภอ เพื่อประชาชนร้องเรียนร้องทุกข์ และแจ้งเบาะแสการกระทำผิด
3.จัดชุดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพ.สต. ตำรวจ อาสาตำรวจ และหัวหน้า/คณะกรรมการคุ้ม 5,149 คุ้ม คัดกรองและดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยมี อสม. และ กม. ที่ผ่านการอบรมการดูแลสังเกตผู้ป่วย ทั้งมีทีมผู้พิทักษ์ และชุดนาคาพิทักษ์ เข้าระงับเหตุทันทีหากมีผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง
4.จัดทำ Family folder รวบรวมข้อมูลปัจจัยเพื่อเลิกยาเสพติด การช่วยเหลือ และข้อมูลครอบครัว ครอบคลุมทั้งสุขภาพ รายได้ และข้อมูลอื่นๆ พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทหมู่บ้าน/ชุมชนมีส่วนร่วม ด้วยกองทุนแม่ของแผ่นดิน 272 กองทุน กองทุนหมู่บ้านยั่งยืน 67 หมู่บ้าน
จากการ Re X-ray ข้อมูลในพื้นที่ พบผู้เสพ 2,044 คน ผู้ค้า 389 คน ผู้ป่วยจิตเวช 320 คน และได้คัดกรองประชาชนอายุ 12-65 ปีในชุมชน พบผู้เสพ 701 คน เข้ารับการคัดกรองจำแนกเป็นสีแดง เข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาล และสีเหลือง สีเขียว บำบัดโดยชุมชน
ในด้านปราบปราม ได้สนธิกำลังตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ถนนสายหลัก 7 จุด ถนนสายรอง 721 จุด ทำการสุ่มตรวจ 644 ครั้ง ตรวจพัสดุไปรษณีย์ 6 ครั้ง ขยายผลเครือข่ายยาเสพติดทำการยึดทรัพย์แล้ว 2 คดี และได้สุ่มตรวจเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาสารเสพติด 76 หน่วย 3,783 ราย พบมีสารเสพติด 43 ราย เข้ารับการบำบัดรักษา
โครงการดังกล่าว ประสบความสำเร็จเพราะชุมชน ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ให้กำลังใจสร้างความเชื่อมั่นผู้เสพให้ ลด ละ เลิก รวมทั้งทำให้ผู้เสพมีกำลังใจ บำบัดฟื้นฟูผ่าน เป็นคนดีคืนสู่สังคม ใช้ชีวิตปกติสุขร่วมกับชุมชนได้