ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาท/คน เป็นเดือนละ 2,000 บาท/คน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค.66)
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องขอเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็น 2,000 บาท และเพิ่มจำนวน อสม. ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการในการตั้งคำของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยเป็น อสม. 1,075,163 คน อสส. 15,000 คน รวม 1,090,163 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
"การเพิ่มค่าป่วยการเป็น 2 พันบาท ส่วนหนึ่งจะช่วยให้ อสม. สามารถจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน และยังมีเงินสะสมเข้ากองทุน ฌกส. ทำให้ทายาทของ อสม. ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนเกือบ 5 แสนบาท/ราย ถือเป็นการตอบแทนความเสียสละของ อสม. ที่ทำให้ประชาชนมีหมอคนแรกคอยดูแลในชุมชน ทั้งนี้ หากเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชาชน 30 คน เรามี อสม. 1 ล้านกว่าคน เท่ากับใช้เงิน 65 บาท/วัน หรือประมาณ 2 บาท/คน/วัน ในการมีเครือข่ายสุขภาพไปดูแลประชาชนทั้งประเทศ" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี อสม. จำนวน 1,075,163 คน และ อสส. จำนวน 15,000 คน คาดว่า จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ จำนวน 13,081 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลต้องดูแลบุคลากร คนทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องพัฒนาทุกระบบให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบัน อสม.และ อสส. มีภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพ ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ ระบาดของโรคโควิด - 19 ในระยะ Post-Pandemic ในชุมชน จำนวน 4 งาน ได้แก่ (1) คัดกรองเพื่อประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน 9 ด้าน (2) สร้างความรอบรู้ และให้บริการดูแลสุขภาพตามสภาพปัญหาในแต่ละด้าน และประสานภาคีเครือข่ายดูแล ผู้สูงอายุให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (3) ปฏิบัติงานในระยะ Post-Pandemic ของโรคโควิด - 19 และ (4) ติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในระบบสมัครใจบำบัด