คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยคอนเซปต์การเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัล เน้นทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อรู้เท่าทันและค้นพบดีมานด์ใหม่ เปรียบการแข่งขันยุคใหม่เหมือนหนังไอรอนแมน หมดยุคกังวลเรื่อง AI แย่งงานคน แต่กลายเป็นคนต้องรวมพลังกับ AI เพื่อแข่งกันเอง
รศ.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิชาเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital and Innovative Economy) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Econ Connect ว่า วิชาเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม เปิดการเรียนการสอนมา 7-8 ปี โดยสอนให้นิสิตรู้จักกับกับ Digital Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล และมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
ดังนั้น หลักคิดและการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนตาม อาทิ GDP แบบดั้งเดิมไม่สามารถเก็บตัวเลขได้ทั้งหมดอีกต่อไป เนื้อหาที่สอนได้มีการเปลี่ยนทุกปีให้ตามทันเทคโนโลยีใหม่ และเชิญวิทยากรภายนอกที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปีนี้ได้อนุญาตให้นิสิตทำการบ้านด้วย ChatGPT วัตถุประสงค์หลักคือการเข้าใจและเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี ว่ามีความสามารถและข้อจำกัดอย่างไร โจทย์คือการเขียนนิยายส่งด้วย AI เช่น ChatGPT และสร้างรูปประกอบโดยใช้ AI เช่น Midjourney และ Dall-E เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วนิสิตจะเป็นผู้ค้นพบข้อจำกัดเองว่า หากต้องการทำนิยายต่อเนื่องหลายหน้า ChatGPT จะไม่สามารถทำได้ดี ยังคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดนอกกรอบของมนุษย์เข้าไปเติมเต็ม และมีการนำมาถกเถียงร่วมกันต่อในห้องเรียน ถึงการใช้งานในโลกจริงที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ.วรประภา กล่าวว่า เราเลยจุดที่จะมานั่งกังวลว่า AI จะแย่งงานคนแล้ว สมัยก่อนเป็นยุคของคนแข่งกับคน ถัดมาเป็น AI แข่งกับ AI จนกระทั่งปัจจุบันเราก้าวสู่ยุค ?คน+AI? แข่งกับ ?คน+AI? ยกระดับเป็น super human เช่นเดียวกับยุคสมัยที่เครื่องคิดเลขถูกคิดค้นขึ้นมา ทุกคนต้องหัดใช้เครื่องคิดเลขเพราะทุกคนเริ่มใช้กัน แม้วันนี้เครื่องมือใหม่ๆ อาจดูใช้งานยาก แต่คนที่ใช้เป็นก่อนย่อมมีโอกาสได้เปรียบเป็นผู้ชนะ
"ในหนังเรื่อง Iron Man พระเอกจะมี Jarvis ที่เป็น AI คอยเป็นผู้ช่วยประมวลผลตอบคำถาม และมีชุดเกราะสีแดงช่วยให้สะเทินบกสะเทินน้ำ นั่นคือตัวอย่างของการที่คนเอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถของตนเอง ทำให้ทั้งสมองคิดคำนวณได้ไวขึ้น และร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัดของการเสื่อมตามธรรมชาติของมนุษย์" รศ.ดร.วรประภา กล่าว
รศ.วรประภา กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันคือ AI แต่อนาคตอาจเป็นอย่างอื่นได้อีก ควอนตัมเทคโนโลยีอาจมาแทนที่ก็เป็นได้ จึงต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา ส่วนตัวไม่มีความกลัวเรื่องดิสรัปชัน กลับรู้สึกว่ามันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพดีขึ้น คือ ผลผลิตที่มากขึ้นท่ามกลางประชากรโลกลดลง
อีกทั้งเมื่อมีดิสรัปชันใหม่เข้ามา จะทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ (New Demand) เช่น การแอบใช้ ChatGPT ในการเขียนรายงานหรือข้อสอบที่มีกติกาว่าห้ามใช้ AI ฝั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องหาเครื่องมือมาตรวจสอบงานที่ถูกเขียนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI Detection Tool) นักธุรกิจที่เห็นโอกาสก็สร้างเครื่องมือเหล่านี้ออกขายสู่ท้องตลาด
อย่างไรก็ตาม แม้ฝั่งสถาบันการศึกษาจะเตรียมความพร้อมเด็กรุ่นใหม่ให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และเปิดสถาบันการศึกษาเพื่อให้คนทำงานเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ในจุฬาฯ มีการเก็บสะสมวิชาเรียนแบบ Credit Bank แต่ในโลกจริงยังต้องการคนช่วยกันใช้เทคโนโลยีให้มากพอ เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่สามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วสังคมจะพบว่า หลายปัญหาไม่สามารถแก้ด้วยเทคโนโลยีชนิดเดียว ซึ่งจะมีคนหาโอกาสพัฒนาต่อเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดอย่างนี้เรื่อยไป