น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 66 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยกฎหมายได้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 66 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับแล้ว ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกมิจฉาชีพหลวกลวง สามารถติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคาร เพื่อระงับบัญชีได้ทันทีและตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นกลไกให้ระงับความเสียหายได้ทันท่วงที โดยขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวม 15 แห่ง ได้เปิดศูนย์แจ้งเหตุฯ แล้ว
นอกจากนี้ ผลของกฎหมายยังมีผลให้เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหมายโทรศัพท์ ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"นับจากนี้ หากประชาชนที่รู้ตัวว่าถูกหลอกลวง ให้รีบโทรไปที่ศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ ตามธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่เพื่อระงับบัญชีได้ทันที และฝากถึงผู้ที่รู้ตัวว่าได้เปิดบัญชีม้า ซิมม้าให้มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน ให้ไปปิดบัญชีเสีย หากเจ้าหน้าที่จับได้จะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้เตือนเรื่องนี้มานานแล้ว" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันกำหนดแนวดำเนินการเพื่อให้การดูแลคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ