นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยมีการหารือถึงแนวคิดในการปรับปรุงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และลานคนเมือง เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนในหลายมิติ เช่น พิพิธภัณฑ์เมือง City Lab สำหรับทำวิจัย รวมถึงเป็นที่ทำงาน หรือให้ประชาชนใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ของเมือง
เมื่อทำเป็นพื้นที่สำหรับประชาชน ก็ต้องมีการย้ายเจ้าหน้าที่ไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ซึ่งมีโครงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับ โดยอาจใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากเป็นอาคารเก่าที่สร้างมา 23 ปีแล้ว จึงมีความเสื่อมโทรมตามสภาพ และต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งเรื่องลิฟต์โดยสารด้วย
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การย้ายไม่ใช่ย้ายพรุ่งนี้มะรืนนี้ ต้องมีเวลาอย่างน้อย 2 ปี ที่พอจะขยับขยายได้ สถานที่ใหม่มีความกว้างขวาง เดินทางสะดวกสบาย ไม่ต้องฝ่ารถติดเข้าไปในเมือง
ในส่วนของร้านค้าโดยรอบ ก็มีความกังวลว่าหากย้ายไปจากตรงนี้แล้วเศรษฐกิจก็จะถดถอยลง เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ต้องห่วง เพราะจะทำเป็นพื้นที่มีคนเข้าออกมากขึ้น อาจจะ 24 ชั่วโมง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจก็คงดูให้รอบคอบว่า ไม่ได้ทำให้ชุมชนเกิดความเสียหาย และน่าจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ด้วย
ทั้งนี้ มีคนเสนอให้ใช้ว่าเป็น People Square หรือลานพลเมือง ที่พลเมืองได้มาเจอกัน ถ้าดูพื้นที่รอบข้าง วัดสุทัศน์ โบสถ์พราหมณ์ หรือว่าจะเป็นชุมชนต่างๆ คลองหลอด คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู วัดราชนัดดา วัดเทพธิดาราม ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหางานด้วย
"โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของคนเดียว แต่เป็นโครงการของกรุงเทพมหานครที่ต้องทำ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เร่งรีบ ถ้าจะเสร็จก็คงจะเป็นช่วงปลายๆ สมัยดำรงตำแหน่ง ทุกอย่างต้องไปด้วยความรอบคอบ เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชีวิตหลายภาคส่วนเหมือนกัน แต่เราก็เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันแรก มีการประชุมคณะกรรมการ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ใช้เวลา ต้องค่อยๆ ให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ได้เร่งรีบทำให้เสร็จในสมัยนี้ อาจจะใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
- จากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สู่ สะดือของกรุงเทพฯ
ส่วนการปรับเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เรียกว่าเป็น ?สะดือของกรุงเทพฯ? ซึ่งทางคณะกรรมการฯ มีความเห็นหลากหลาย คือ
ขั้นแรกต้องเป็นพื้นที่แสดงถึงอดีตปัจจุบันและอนาคตของเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ มีอดีตที่มีคุณค่ามากมาย มีเรื่องราวในหลายมิติ แต่ไม่มีพื้นที่บรรยายถึงสิ่งมีคุณค่าที่ผ่านมา หรือมีการเก็บรวบรวมว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร และสุดท้ายแล้วทิศทางของเมืองในอนาคตเป็นอย่างไร โดยสามารถใช้เทคโนโลยีโพรเซสชันเล่าเรื่อง เพื่อให้คนเกิดความหวังกับเมืองในอนาคต
ต่อมาต้องศึกษาบริบทต่างๆ ของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมว่าตรงนี้มีความสำคัญอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับชุมชน อย่างไร รวมทั้งเนื้อหาต่างๆ ที่คาดว่าพื้นที่ควรจะมี อย่างไรก็ดี จะไม่ใช่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งแสดงโชว์และมีไฟส่อง แต่จะเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมร่วมกันกับคนและชุมชน โดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามสถานการณ์ ที่สำคัญคือการมี City Lab เป็นพื้นที่ให้คนมาพูดคุย ค้นหาคำตอบของเมือง ทดสอบปัญหาต่างๆ และอาจจะมีการถกแถลง โดยใช้ห้องประชุมเดิมของสภา กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บริเวณนี้สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ต่างๆ ที่เป็นจุดสำคัญของเมือง มีจุดท่องเที่ยวที่แบ่งเป็น Segment เช่น ด้านประวัติศาสตร์เมืองและคลอง เป็นจุดดึงดูดหรือจุดที่เรียกว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมือง โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจเหมือนเมืองอื่นๆ ในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องคุยกับชุมชน ว่า จุดแข็งกรุงเทพฯ คืออะไร รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ รวมถึงการบริหารจัดการด้วยว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่
"ต้องไปให้ไกลที่สุด เราจะได้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด ไม่อยากจะมาศึกษาแล้วศึกษาอีก ต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป คิดว่าคงใช้เวลาอีกประมาณไม่เกิน 8 เดือน เมื่อศึกษารายละเอียดแล้วก็ดูว่าสุดท้ายแล้วเรามองพื้นที่นี้อย่างไร ว่าพื้นที่นี้ที่มีความเชื่อมโยงทั้งในแง่ของลานคนเมือง และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รวมถึงชุมชนโดยรอบข้างด้วย เพราะตรงนี้ก็คือสะดือกรุงเทพฯ มีเสาชิงช้าที่อยู่ตรงศูนย์กลางที่มีชีวิต เป็นชัยภูมิที่ดี สามารถเชื่อมต่อไปสนามหลวง ไปภูเขาทอง ไปเยาวราช ไปพาหุรัด ถ้าหากพัฒนาให้ดี ไปจุดเริ่มต้นแล้วเดินเชื่อมโยงเมืองได้ ก็จะมีความผูกพันกับเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งหมด" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว