นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยินดีและขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการมีส่วนร่วมผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ให้สำเร็จ โดยมีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (20 มีนาคม 2566) ถือเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น พร้อมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาบุคลากรของประเทศชาติเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กยศ. ฉบับนี้ อยู่ที่ มาตรา 18 และ 44 เกี่ยวกับการคิดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมกองทุน กยศ. โดยบัญญัติให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่ไม่เกิน 0.5% (จากเดิมที่กำหนดให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% ต่อปี และคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ ไม่เกิน 1.5% ต่อเดือน) ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ จะใช้ทั้งกับผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ ผู้ชำระหนี้คืนอยู่ และผู้ค้ำประกันในปัจจุบันด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
1. ผู้กู้ยืม กยศ. จะสามารถเลือกประเภทของการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น โดยครอบคลุมการศึกษาในหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ (Reskill/Upskill) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
2. การกู้ยืมเงินจะสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี โดย กยศ. จะช่วยให้ข้อมูลแก่นักเรียนหรือนักศึกษาประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกสาขาที่เรียนเพื่อวางแผนอนาคต รวมทั้งสามารถขยายให้กู้ยืมเงินเรียนได้เกินเวลาที่หลักสูตรกำหนด หากมีความจำเป็น
3. แก้ไขโครงสร้างสินเชื่อ เพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ได้ตามกำลังและความสามารถในการหารายได้ สร้างวินัยในการชำระเงินคืนกองทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุน โดยกำหนดให้มีระยะเวลาปลอดหนี้, เลือกผ่อนชำระเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้, ตัดชำระหนี้จากต้นเงินดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม รวมทั้งช่วยผ่อนผันการชำระหนี้ได้ทุกช่วงเวลา
"นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนไทยในลำดับต้นๆ โดยเน้นย้ำว่า ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับที่ 2 นี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แก่ทั้งผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการศึกษาในทุกประเภทเพื่อรองรับการเรียนรู้ โดยถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรที่เปรียบเสมือนอนาคตของประเทศชาติต่อไป" นายอนุชา กล่าว