จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไปจากบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในจังหวัดปราจีนบุรี จนกลายเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากจนขึ้นเทรนด์ในโลกโซเซี่ยล
ล่าสุดนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนสารซีเซียมในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยตรวจพบสารซีเซียมในถุงบิ๊กแบ๊ก แต่เบื้องต้นยังไม่ยืนยันว่าซีเซียม-137 ที่หายไปถูกหลอมแล้วหรือไม่ ในส่วนของพนักงานของโรงงานหลอมเหล็กทั้ง 70 คน จะมีการตรวจสารตกค้างในร่างกายต่อไป
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า มีการตรวจพบซีเซียมปนเปื้อนในฝุ่นแดง/ฝุ่นเหล็กที่มาจากการหลอมเหล็ก ในเตาระบบปิด ทั้งหมด 24 ตัน มี 24 ถุง โดยมี 1 ถุง ถูกนำไปถมที่ดินบริเวณโรงหลอม ซึ่งได้มีการขุดดินกลับมาใส่ถุงบรรจุครบแล้ว และมีการตรวจสอบดินบริเวณดังกล่าวแล้ว ยืนยันว่าดินไม่ปนเปื้อน
ขณะเดียวกัน ได้มีการปิดล้อมบริเวณโรงงาน และรอบๆ โรงงานไว้แล้ว ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือตรวจสอบบริเวณรอบโรงงาน ยืนยันว่าซีเซียมไม่มีการกระจายและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งในอากาศ น้ำ ดิน ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ จะมีการสอบสวนว่าวัสดุหายไปได้อย่างไร และนำเข้าสู่โรงหลอมได้อย่างไร ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการส่งไปที่จังหวัดชลบุรีนั้น จากการตรวจสอบโรงงานดังกล่าวเมื่อเช้านี้ ไม่พบสารซีเซียม
"ขณะนี้ 50-50 ว่า ฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียมที่พบในโรงงานนี้ มาจากซีเซียมทำหายจริงหรือไม่ มาตรการต่อไปจะสืบหาต่อ ทั้งนี้ ตามกฎหมาย หากทราบว่าอุปกรณ์รังสีสูญหายต้องแจ้งโดยพลัน แต่โรงงานดังกล่าวแจ้งหายเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทั้งนี้ โรงงานนี้ถือครองวัสดุนี้มาตั้งแต่ปี 2538 และวัสดุอยู่สูงมาก ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าวัสดุดังกล่าวหายไปได้อย่างไร" นายเพิ่มสุข กล่าว
นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กล่าวว่า ฝุ่นเหล็กถูกบรรจุใส่ถุง มีน้ำหนักคล้ายผงเกลือ และอยู่ในพื้นที่ปิด ดังนั้น ลมหรือสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำให้ฝุ่นฟุ้งออกไปได้ ขณะเดียวกัน โรงงานก็เป็นระบบปิด โดยยืนยันว่า ระยะห่างรัศมี 2 เมตรก็ปลอดภัยจากสารแล้ว ทั้งนี้ โรงหลอมได้มีการหลอมเหล็กมาตั้งแต่วันที่ 4-5 มี.ค. ที่ผ่านมา
ด้าน พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เกิดความผิดปกติกับซีเซียม-137 มาตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 66 แต่ทางโรงงานมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจได้เร่งทำการสืบสวน เบื้องต้นมองว่าน่าจะเป็นพนักงานในโรงงานนำออกมา อย่างไรก็ดี ซีเซียม-137 ในประเทศไทยทั้งหมดได้มีการขึ้นทะเบียน และจากการตรวจสอบซีเซียมที่เหลือยังไม่มีการสูญหาย จึงคาดการณ์เบื้องต้นว่า ฝุ่นแดงที่พบว่าปนเปื้อนซีเซียมนั้น อาจมาจากการหลอมของซีเซียมที่หายไป