ชาวโซเซียลมีเดียตื่นตระหนกประเด็นการพบสารซีเซียม-137 ปะปนกับฝุ่นแดงในโรงหลอมแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี เพราะซีเซียม-137 ถือเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง หลังจากนักวิชาการหลายรายออกมาแสดงความเป็นห่วงการฟุ้งกระจายหากโลหะปนเปื้อนถูกส่งเข้าเตาหลอม ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางจังหวัดปราจีนบุรีและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติระบุว่ายังไม่พบโลหะต้นตอของฝุ่นแดง แต่ยืนยันว่าได้สั่งปิดโรงงานแล้วและโรงหลอมดังกล่าวเป็นระบบปิด
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการพูดถึงซีเซียม-137 ตลอดทั้งวันนี้ในสื่อโซเซียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม โดยพบว่ามียอดโพสต์ ทวีตและค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) เกิดขึ้นสูงถึง 7 แสนครั้ง
ชาวเน็ตส่วนใหญ่ที่คอมเม้นท์ ต้องการให้มีผู้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การรั่วไหลที่เกิดขึ้น และต้องการรู้สาเหตุที่ทำให้ซีเซียม-137 หายไป โดยส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการแถลงชี้แจงของทางการว่าฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนซีเซียม-137 ถูกเก็บไว้ในระบบปิดจริง นอกจากนั้นยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่าทางการจะจัดการกับฝุ่นที่อาจฟุ้งกระจายอย่างไร
นอกจากนั้น ยังต้องการทราบคุณสมบัติและพิษของสารสารซีเซียม-137 ว่ามีอันตรายอย่างไร หากได้รับสารดังกล่าวเข้าไปร่างกายในระดับใดจึงจะเป็นอันตราย รวมถึงจะมีโอกาสหลุดลอยออกมาปนเปื้อนกับอากาศและน้ำหรือไม่ รวมทั้งมีความกังวลว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะลุกลามไปถึงถูกแบนสินค้าจากไทย และห้ามคนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จากนั้นจะทำให้เศรษฐกิจพัง
รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีว่าจะเกิดอะไรอันตรายขึ้นหรือไม่ถ้าซีเซียม-137 ถูกหลอมไปแล้ว โดยระบุว่ายังตอบได้ยากว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้าง เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์พลูโตเนียม-ยูเรเนียม
อย่างไรก็ตาม หากซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ จนกลายเป็นโลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี ก็บอกได้ยากว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่ามากเท่าเดิมหรือไม่ คงต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันตินำเครื่องวัดรังสีมาตรวจสอบ
แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสารซีเซียม-137 ให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอมไปสู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า)
สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ (หรือทำให้เกิด radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี ) และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค
ขณะที่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาโพสต์เพจเฟซบุ๊กถึงการรับมือกับสารซีเซียม-137 หากสัมผัสหรือได้รับเข้าไปในร่างกายว่า ควรเตรียม ยาปรัสเซียนบลู (Prussian blue) เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยในทางการแพทย์ ยาปรัสเซียนบลูที่ใช้รับประทานเป็นยาแก้พิษ สำหรับพิษจากโลหะหนักบางชนิดเช่น โดยแทลเลียม (I) และไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-137
ทั้งนี้ ซีเซียมสามารถทำปฏิกิริยากับน้ำและกลายเป็นซีเซียมไฮดรอกไซด์ (caesium hydroxide) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำ ซีเซียมมีคุณสมบัติในทางชีววิทยาคล้ายกับโปแตสเซียม (potassium) และรูบิเดียม (rubidium) เมื่อเข้าไปในร่างกาย ซีเซียมจะกระจายไปทั่วร่างกาย โดยมีความเข้มข้นสูงที่กล้ามเนื้อและกระดูก
สำหรับซีเซียมมีครึ่งชีวิตทางชีววิทยา (biological half-life) ประมาณ 70 วัน จากการทดลองในสุนัข เมื่อได้รับซีเซียมในครั้งเดียวจำนวน 3,800 ไมโครคูรีต่อกิโลกรัม (mCi/kg) (คิดเป็นซีเซียม-137 จำนวน 44 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) สุนัขนั้นตายลงภายใน 3 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ถ้าบังเอิญได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ควรรับประทานยาปรัสเซียนบลู ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น