นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้จะลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อไปติดตามระบบการรักษาและให้ความรู้ประชาชนของโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137
จากนั้น วันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) ก็จะเดินทางไปที่ รพ.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จ.ระยอง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ความรู้กับบุคลากรในโรงพยาบาลในการให้ความรู้กับประชาชน และสื่อสารถึงประชาชนได้เข้าใจ ถึงอาการต่างๆ เริ่มตั้งแต่การสัมผัสน้อย การสัมผัสมาก หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยก็ให้เข้าสู่ระบบการรักษา
โดยทางโรงพยาบาลจะเตรียมความพร้อมเก็บข้อมูลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่หากพบผู้สัมผัสกับสารกัมมันตรังสีจริง ก็จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งการลงพื้นที่ จ.ระยอง เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงจะพากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปให้ความรู้และเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อให้พร้อมหากเกิดสถานการณ์ด้วย
นายสาธิต ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่พบประชาชนเป็นผู้ป่วยสัมผัสซีเซียม-137 แต่กระทรวงฯ จะเก็บข้อมูลประชาชนที่มีส่วนใกล้ชิด และจะให้แจ้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอสม. ได้รับทราบ หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือคนที่ทำงานในโรงงาน รวมถึงพื้นที่ต้องสงสัยที่นำสารซีเซียมไปทิ้ง เพราะสารนี้ ถ้าถูกสะสมในร่างกายในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเลือดขาว
*มท.เตรียมถกคลังเยียวยา หากมีผู้ได้รับผลกระทบจากซีเซียม
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในจังหวัดปราจีนบุรี ว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย จะใช้กลไกฝ่ายปกครองเพื่อช่วยแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง และให้แจ้งสิ่งผิดปกติกลับมายังเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันต้องช่วยกันเฝ้าระวัง รวมถึงการพิจารณาประกาศพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ เพราะว่าสารได้ฟุ้งกระจาย รวมทั้งเตรียมหารือแนวทางเยียวยาว่าจะต้องมีการพิจารณาประเด็นใดบ้าง ก่อนหารือกับกระทรวงการคลัง
"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วม หรือภัยหนาวที่เป็นเรื่องเก่า ยืนยันว่างบประมาณเยียวยาไม่มีปัญหา เนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีงบทดรองจ่ายอยู่ที่จังหวัดอยู่แล้ว" พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ
ส่วนกรณีที่นักวิชาการให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ต่อไปอีก 2-5 ปี นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องมีการหารือกันโดยเฉพาะ ว่าจะให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งท้องถิ่นจะต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุข