กรีนพีซ ร้องรัฐเอาผิดซีเซียม-137 สูญหาย ห่วงโอกาสปนเปื้อนกระทบสุขภาพยาว

ข่าวทั่วไป Tuesday March 21, 2023 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด จ.ปราจีนบุรีว่า ชี้ให้เห็นถึงความไม่รัดกุมในระบบการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทฯ เจ้าของโรงไฟฟ้า รวมถึงหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ทั้งยังแสดงถึงพฤติกรรมการปกปิดข้อมูลของบริษัทฯ ทั้งในประเด็นเรื่องการแจ้งล่าช้า

สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย ตามกฎหมายแล้วย่อมต้องมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด มีการติดตามสถานะ มีการตรวจจับตาและรายงานการคงสภาพเป็นระยะ การปล่อยปละละเลยและละเมิดกฎหมายตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในฐานะผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย จนเป็นเหตุให้หน่วยงานรัฐไม่อาจรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสาธารณชนต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่นและเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้องและกระจ่างแจ้ง ตอกย้ำถึงปัญหาความไม่รู้และความมืดบอดทางข้อมูลมลพิษและวัตถุอันตรายของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ตลอดจนถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างอุกอาจ

"การปล่อยปละให้ไม่ได้รับการดูแลย่อมเป็นความผิดมหันต์ของผู้ครอบครองรวมถึงหน่วยงานมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส"

นายธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอย่างกรณีนี้ ไทยไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอ ยกเว้นองค์ความรู้จาก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (พ.ป.ส.) เนื่องจากเป็นหน่วยงานเดียวที่เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ ซึ่งพ.ป.ส. ต้องทำการสื่อสารกับสาธารณะ ทั้งวิธีป้องกันตนเอง ระดับของรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือต่อผู้ปฏิบัติงานรังสี เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความรู้ที่ต้องค่อยๆ สื่อสารโดยใช้ภาษาที่ไม่ซับซ้อน เนื่องจากต้องยอมรับว่าประชาชนมีความไม่เข้าใจ และตื่นตระหนกต่อรังสี เพราะเป็นสารที่มองไม่เห็น

"ในต่างประเทศมีหน่วยงานดูแลเรื่องรังสีและนิวเคลียร์คล้ายกับของไทย แต่ของไทยมีการนำนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมพาณิชยการจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าระบบเก็บรักษา และการกำกับดูแลความปลอดภัยแย่มาก สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของหน่วยงานที่กำกับดูแล" นายธารา กล่าว

กรีนพีซ มองว่า ไทยมีกฎหมายและหน่วยงานที่มีอยู่เพียงพอและครอบคลุมแล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกนำไปบังคับใช้อย่างเต็มที่ ถ้ามีกฎหมายเพิ่มอีกแต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น หากมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ไม่หย่อนยาน ก็เพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จากภัยฉุกเฉินเรื่องนิวเคลียร์และรังสีแล้ว

*เตรียมแผนรับมือภัยฉุกเฉิน

นายธารา กล่าวว่า จากที่มีการแถลงข่าวว่าโรงงานหลอมเหล็กอยู่ในระบบปิด และได้ดำเนินการตรวจสอบบริเวณโรงงานและรอบโรงงานไม่พบปนเปื้อนซีเซียม-137 นั้น มองว่า การมอนิเตอร์เรื่องรังสีไม่สามารถทำแล้วจบในครั้งเดียวได้ ต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคนงาน เนื่องจากบางครั้งอาจตรวจไม่พบรังสีบนเสื้อผ้า ผิวหนัง เส้นผม แต่อาจมีการสูดดม หรือสัมผัส ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

"ต่อให้เป็นระบบปิด แต่น่าจะมีรังสีปนเปื้อนในกระบวนการหลอมและลำเลียง โดยอาจมีโอกาสปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เหล็กของโรงงาน หรือคนงานที่ทำหน้าที่ลำเลียงผงเหล็กใส่ลงในบิ๊กแบ๊ก ทั้งการลำเลียงใส่ 24 ถุงในครั้งแรก และการตักดินที่ปนเปื้อนซีเซียมกลับเข้าถุง"

นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรชี้แจงและเปิดเผยข้อมูล พร้อมแผนรับมือกับภัยฉุกเฉินด้านนิวเคลียร์และรังสี ขณะเดียวกัน รัฐควรทำแบบจำลองกรณีการหลอมรังสีว่าทางอากาศรังสีสามารถกระจาย หรือปนเปื้อนไปที่ใด มีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีแผนที่เปิดเผย โปร่งใสต่อสาธารณชน ว่าจะจัดการอย่างไร นำไปไว้ที่ไหน และมีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงในภายหลัง

"ในสหรัฐฯ จะใช้วิธีทำแลนด์ฟิลเหนือพื้นดิน มีโครงสร้างที่รับประกันว่ากากกัมมันตรังสีจะอยู่ได้ปลอดภัย เนื่องจากครึ่งชีวิตของซีเซียม-137 คือ 30 ปี คือ ผ่านไป 30 ปี รังสีจะหายไปครึ่งหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะให้สลายหายไปหมดต้องใช้ 10 จังหวะของครึ่งชีวิต เท่ากับ 300 ปี ดังนั้น ต้องมีการจัดเก็บในที่ที่ปลอดภัยมากๆ" นายธารา กล่าว
*ถอดบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ

นายธารา กล่าวว่า จากโคบอลต์-60 ถึงซีเซียม-137 นับว่าเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมของการที่วัสดุกัมมันตรังสีหลุดรอดออกจากการควบคุมดูแล แม้เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นห่างกันกว่า 20 ปี แต่ยังคงสะท้อนปัญหาในลักษณะเดียวกัน

"ในปี 2543 ไทยเคยเกิดเหตุการณ์โคบอลต์-60 หลุดจากโรงพยาบาลไปสู่ร้านขายของเก่า ส่งผลให้รังสีแผ่ไปในวงกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหลายราย"

โดยเมื่อเหตุการณ์จบลงแล้ว ต้องสรุปและถอดบทเรียน และดูช่องว่างของการใช้กฎหมายนิวเคลียร์และรังสี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

"ขณะนี้มีข้อมูลเพียงการวัดรังสีในโรงงาน และรอบโรงงาน รวมทั้งในคนงานเพียงครั้งเดียว ซึ่งต้องมีการมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง ไทยไม่เคยสรุปบทเรียนเมื่อ 20 ปีก่อน และต้องยอมรับว่ามีช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานรัฐต้องดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้าและโรงหลอมเหล็ก และให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการจัดการกากที่เหลือ ไม่ควรใช้ภาษีของรัฐจัดการ" นายธารา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ