ครม. รับทราบผลสำเร็จการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ชูความมือจาก 4 ประเทศ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน สร้างความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล จัดการปัญหาหลอกลวงออนไลน์ และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Ministers? Meeting: ADGMIN ครั้งที่ 3) และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 9-10 ก.พ. 66 ณ เกาะโบราไคย์ ฟิลิปปินส์ โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรี และผู้ที่ได้รับมอบหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศร่วมกับประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ: ITU) และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุม
สำหรับผลการประชุม สามารถสรุปได้ดังนี้
1. การร่วมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้หัวข้อ การผนึกกำลังสู่อนาคตดิจิทัลที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ.2025 และแบ่งปันข้อมูล การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของไทย และเน้นย้ำถึงความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก เกี่ยวกับผลกระทบจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการเร่งการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล
2. การผลักดันประเด็นสำคัญเร่งด่วนของไทย ไทยได้เสนอกิจกรรมความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ของอาเซียน เช่น 1) การประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และ 2) การสร้างเครือข่ายอาเซียนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำมาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากการหลอกลวงทางออนไลน์
3. การรายงานผลการดำเนินงานสำคัญปี 2565 รับทราบผลงานความสำเร็จของโครงการสำคัญประจ้าปี 2565 เช่น รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน และแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียน และข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ
4. การรับทราบผลการประชุมคณะกรรรมการประสานงานอาเซียน ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 3 ในส่วนของกรอบการประชุมสภาปฏิบัติการอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่าย ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนดิจิทัล มีกิจกรรมและการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น โครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และบริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ
5. การอนุมัติงบฯ ประจำปี 2566 ไทยได้รับอนุมัติงบฯ จากกองทุน ASEAN ICT Fund จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการ Towards ASEAN regional analysis: ASEAN Guidelines and Preparation on conducting digital statistics for economy-wide CGE database and bridging-digital-divide integrated simulation จำนวน 57,900 ดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของโครงการนี้ เป็นโครงการระยะที่ 2 สืบเนื่องจากโครงการระยะแรกในปี 2564 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการสถิติดิจิทัล สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแบบจำลองคำนวณดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการลดช่องว่างด้านดิจิทัลของอาเซียนได้อย่างครอบคลุม และบูรณาการ
6. เอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 ได้มีการรับรอง ให้ความเห็นชอบ และรับทราบเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่
- รับรองปฏิญญาดิจิทัลโบราไคย์
- เห็นชอบกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน
- เห็นชอบร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน
- เห็นชอบแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- รับทราบแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ
- รับทราบรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน
ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ ยังไม่มีการพิจารณาการลงนามเอกสารฉบับดังกล่าว เนื่องจาก ITU อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างเอกสารดังกล่าว
7. การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 กับคู่เจรจา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบต่อแผนงานความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแสวงหาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และการพัฒนาศักยภาพในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์
8. การจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีกำหนดการจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567
9. บทบาทของคณะผู้แทนไทย เช่น เร่งรัดการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน และได้ผลักดันข้อเสนอการจัดตั้งคณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับความความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน ในการหารือทวิภาคีระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในประเด็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยี 5G โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล การจัดการปัญหาหลอกลวงออนไลน์ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และยังประสบความสำเร็จในการหารือทวิภาคีของปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในระหว่างการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 3 กับประเทศสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และได้รับการสนับสนุนจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และความร่วมมือด้านดิจิทัลต่างๆ" น.ส.ทิพานัน กล่าว