กรมการแพทย์แผนไทยฯ ประกาศ "สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ" ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า วางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากรายงานของ Euromonitor International แสดงให้เห็นว่า มูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จัดเป็นประเทศที่มีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน)
ทั้งนี้ มั่นใจว่าสมุนไพร Herbal Champions ทั้ง 15 รายการ จะช่วยขยายตลาดสมุนไพรไทยในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ดี สมุนไพรหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 รายการแรก (ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ) มีความต้องการในตลาดโลกอยู่แล้ว ได้แก่
1. ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่นิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ มีสรรพคุณทางยาโดดเด่นด้านระบบทางเดินอาหาร มีศักยภาพเติบโตสูง มูลค่าตลาดหลักหมื่นล้านบาท
ข้อมูลโดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชัน ลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของตลาดส่งออกทั้งหมด แม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะมีราคาส่งออกขมิ้นชันต่อหน่วย 2,244 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญสหรัฐ/ตัน) แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนา และเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตร และการแปรรูปขมิ้นชัน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของขมิ้นชันในตลาดโลกยังมีอีกมาก
2. ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรที่ถูกใช้กันมายาวนาน และแพร่หลายในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย มีสรรพคุณโดดเด่นด้านการรักษาอาการหวัด อาการเจ็บคอ และอาการไอ โดยระยะที่ผ่านมา เป็นสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ตลาดของยาฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะที่ The Global Industry Research รายงานมูลค่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรในตลาดโลก ปี 65 พบว่ามีมูลค่า 164.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 331.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2028 โดยเชื่อว่าฟ้าทะลายโจร จะยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการผลักดันฟ้าทะลายโจรให้เป็นสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ
3. กระชายดำ หรือโสมไทย (Thai Ginseng) จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย แม้จะยังเป็นที่รู้จักในประเทศไทยไม่มากนัก แต่กลับเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระชายดำอยู่หลากหลาย อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟผสมกระชายดำ อาหารเสริม ยาแผนโบราณ เป็นต้น
สำหรับสรรพคุณหลักของกระชายดำ คือ การเพิ่มสมรรถนะทางกาย ทำให้สดชื่น และสามารถออกกำลังได้นานขึ้น จึงมีแนวโน้มถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาและสำหรับผู้สูงอายุ จากข้อมูลสถิติการนำเข้า-ส่งออก ของกรมศุลกากรระหว่างปี 2559-2564 พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบกระชายดำ 172 ล้านบาท และสารสกัดกระชายดำ 44.5 ล้านบาท
ในขณะที่ Future Market Insights (FMI) มีการประเมินความต้องการตลาดของสารกลุ่มฟลาโวน (flavones) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในกระชายดำ มีมูลค่าสูงถึง 12.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2574 ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนากระชายดำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างชื่อเสียงและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป
ปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ โดย 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมสมุนไพร herbal champions โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตสมุนไพร (เกษตรกร) และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร (SME) ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ช่วยผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น การแปรรูปเป็นสารสกัด ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เป็นต้น การตรวจรับรองคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ และการส่งเสริมด้านการตลาด เน้นผลักดันในเชิงรุกทั้งในรูปแบบ Offline และ Online