บอร์ดไซเบอร์ ชี้หน่วยงานด้านการศึกษา-สาธารณสุข เสี่ยงภัยคุกคามสุด

ข่าวทั่วไป Tuesday March 21, 2023 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.64 - 30 ก.ย.65 ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เสนอ โดยรายงานฉบับนี้ นำเสนอเกี่ยวกับสถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตรวจพบมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 551 เหตุการณ์ อาทิ

1. การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ (Hacked Website) การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ (Website Defacement) การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาข้อมูล (Website Phishing) การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานเพื่อหลอกให้ผู้เข้าถึงเว็บดาวน์โหลดไปติดตั้ง (Website Malware) รวม 367 เหตุการณ์

2. Ransomware เป็นมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ที่มีความสามารถเข้ารหัสลับข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อได้ รวม 21 เหตุการณ์

3. Emotet Malware เป็นมัลแวร์ที่มีความสามารถในการขโมยข้อมูลทางการเงิน เช่น รหัสผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ และมีความสามารถในการแพร่กระจายตัวเองผ่านเครือข่าย และการส่งอีเมลหลอกลวง (Phishing mail) รวม 9 เหตุการณ์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หน่วยงานที่ถูกโจมตีด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์ อาทิ หน่วยงานด้านการศึกษา 211 เหตุการณ์ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ 135 เหตุการณ์ และหน่วยงานด้านสาธารณสุข 67 เหตุการณ์

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะเกิด อาทิ 1) การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์หน่วยงานราชการ และหน่วยงานสำคัญเป็นรูปแบบที่ถูกตรวจพบมากที่สุด 2) หน่วยงานด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขพบการโจมตีทางไซเบอร์สูงสุด และ 3)อาชญากรทางไซเบอร์ในไทยมีการใช้เทคนิคผสมผสานระหว่าง Phishing และ Social Engineering (เทคนิคการหลอกลวงโดยใช้หลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาเพื่อให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูล) ทำให้มีหลากหลายรูปแบบในการหลอกลวงเหยื่อเพื่อให้ได้ทรัพย์สิน

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า รายงานฉบับนี้ ได้เสนอข้อแนะนำการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ คือ

1.การถูกโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ หน่วยงานภาครัฐและผู้ดูแลระบบดำเนินการปรับปรุง "แพทช์" ของระบบปฏิบัติการ หรือระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ (แพทช์ คือ โปรแกรมที่ใช้ซ่อมแซมจุดบกพร่องของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือปรับปรุงข้อมูลโปรแกรมให้ทันสมัย เพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น)

2.การดูแลเว็บไซต์และระบบที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐได้กำหนดนโยบายการดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ มุ่งรักษาระบบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงแนวทางการกำหนดคุณสมบัติเพื่อการจัดจ้างทำเว็บไซต์

3.หน่วยงานภาครัฐสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรูปแบบ และวิธีการที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง

4.การป้องกันความเสี่ยงมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ดำเนินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสำรองข้อมูลและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ