นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ และกรรมการ บมจ. ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงประมาณ 1.70 - 2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยา น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค-บริโภค ทำให้น้ำประปาในบางพื้นที่มีรสชาติเค็มและกร่อย รวมถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตร
โดยขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณนอกคันกั้นน้ำหรือแนวฟันหลอ ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดในช่วงวันที่ 19-22 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเท่ากับการเกิดน้ำทะเลหนุนสูงเมื่อวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเพชรบุรี ขอให้ระวังน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ยังมีค่าความเค็มของน้ำไม่เกินมาตรฐานในการใช้สำหรับผลิตน้ำประปา (0.25 กรัมต่อลิตร) และเชื่อมั่นว่าน้ำเค็มจะรุกไปไม่ถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล เนื่องจากกรมชลประทาน ได้เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางค่าความเค็ม จึงช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นลงได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อความไม่ประมาท อยากขอให้ประชาชนที่ใช้น้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และสภาวะน้ำกร่อยที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย