นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 รอบ ได้แก่ การปลูกข้าวนาปี (1 พ.ค.-31 ต.ค.) และการปลูกข้าวนาปรัง (1 พ.ย.-30 เม.ย.) และหากมีการปลูกข้าวอีกจะเป็นนาปรังรอบที่ 2 (1 มี.ค.-30 เม.ย.)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 15 มี.ค. 66 ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 จำนวน 12.23 ล้านไร่ คิดเป็น 90% ของแผนการปลูกข้าว โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทาน 9.61 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.62 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.97 ล้านไร่ และเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา
ดังนั้น หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ต่อเนื่องทันที จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก และกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา กรมฯ จึงขอความร่วมมือเกษตรกร 13 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี งดทำนาปรังรอบ 2 เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ทั้งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเรื่องการเข้าสู่ฤดูร้อนของไทย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 66 โดยคาดว่าประเทศไทยตอนบนจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิ.ย. และต้นเดือนก.ค. 66
ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ได้มีการขอความร่วมมือจากเกษตรกร ให้งดการทำนาต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 66 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดฤดูกาล
นายเข้มแข็ง กล่าวว่า การพักนาไม่ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องนั้น มีประโยชน์และผลดีหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนเนื่องจากต้นข้าวยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดแทนเพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม โสนอัฟริกัน ถั่วเขียว หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้
ส่วนในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ ประกอบด้วย
- กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง
- กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก และอโกลนีมา
- กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด และเห็ด