ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพ.ค. 66 โดยอุณหภูมิสูงสุดมีโอกาสแตะถึง 43 องศาเซลเซียส สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงแนะนำให้ประชาชนรู้ทันสัญญาณเตือนโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในช่วงซัมเมอร์นี้
- อาการของโรคลมร้อน
- อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ (สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส)
- ไม่มีเหงื่อออก หรือเหงื่อออกมากผิดปกติ
- ผิวหนังแดง ร้อน แห้ง
- ชีพจรเต้นเร็วและแรง
- สับสน กระวนกระวาย พูดไม่รู้เรื่อง
- ชัก
- ซึมลง หมดสติ
- การป้องกันโรคลมร้อน
1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้นและเพียงพอในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรอให้กระหาย กรณีออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรง ควรดื่มน้ำ 2-4 แก้วทุกชั่วโมง
3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย
5. กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และไม่ควรปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. นำตัวผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม
2. ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม
3. ลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
5. หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล