นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการจัดเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2566 ว่า กทม. ร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผลักดันงานสงกรานต์เป็น Intangible Cultural Heritage (มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม) หรือศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ต้มยำกุ้ง
สำหรับปีนี้ มีการกำหนดธีมประมาณ 7-8 ข้อ อาทิ 1. การสืบสานวัฒนธรรม จัดที่ลานคนเมือง วันที่ 12-14 เม.ย. 66 ซึ่งจะมีการแนะนำว่า วัดใดสามารถไปสักการะได้ มีการรดน้ำดำหัว การรดน้ำมนต์จากวัดดัง และ 2. งานสงกรานต์ที่คลองผดุงกรุงเกษม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงทางเท้า ทดลองความเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนมาเดิน ทั้งนี้ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้นำเรือปั่น และเรือคายัค มาทดลองให้ประชาชนเล่น และรอดูผลตอบรับจากประชาชน ว่าจะมีการดำเนินการต่อไปหรือไม่
กทม. ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคเอกชน จัดทำ map (แผนที่) ที่สามารถดูผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แสดงระดับน้ำว่าพื้นที่ใดเปียกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขณะนี้สามารถรวบรวมได้แล้วกว่า 30 งาน คาดว่าใกล้วันแถลงข่าว น่าจะมีความชัดเจนว่ามีทั้งหมดกี่งาน โดยในแต่ละเขตจะมีพื้นที่มีเอกชนดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในแต่ละเขตจะมีชุมชนที่จัดงานด้วย เช่น ชุมชนบ้านบาตร ได้กำหนดจัดงานสงกรานต์ โดยมี Hidden ไม่ให้คนเบื่อ ซึ่งครั้งนี้กิจกรรมจะยาว เริ่มตั้งแต่วันที่ 8-15 เม.ย. โดยบางที่อาจจะจัดเร็ว บางที่อาจจะจัดช้า ซึ่ง กทม. จะมีการประชาสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆ
"ใครเป็นสายปาร์ตี้ สายสาดน้ำ อยากเปียก จะแสดงระดับน้ำให้เห็น ประชาชนช่วยกันบอกได้ว่า ตรงนี้เปียก จะมี map ที่สามารถให้เรตติ้งน้ำได้ ถ้าใครไม่อยากเปียก ก็สามารถเช็คใน map ก่อนได้" นายศานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ หากทำ map เสร็จแล้ว ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทราบว่า มีงานสงกรานต์จัดขึ้นที่ไหนบ้าง ซึ่งในส่วนของแอปพลิเคชันที่ระบุจุดเปียกน้ำ จะเปิดตัวในวันที่ 7 เม.ย. นี้ เป็นรูปแบบเว็บแอป ไม่ต้องดาวน์โหลด ใช้งานง่าย โดยรูปแบบแอปพลิเคชันเคยใช้ในช่วง Bangkok Design Week มาแล้ว จึงคิดว่าน่าจะรองรับการใช้งานของประชาชนได้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สงกรานต์ในครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จึงมีข้อกังวลเรื่องของความปลอดภัย จากการเบียดเสียด ซึ่งทางเทศกิจมีการลงพื้นที่ เพื่อกำกับดูแลทางเข้า-ออกงาน และร่วมมือกับผู้จัดงานแต่ละพื้นที่ ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยว ปีนี้น่าจะคึกคักมาก สังเกตจากอัตราการเข้าพักโรงแรม (Occupancy Rate: OR) ที่ส่วนใหญ่มีอัตราใกล้เคียงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี ส่วนเมืองก็มีความพร้อม มีพื้นที่เปิด มีสวนเพิ่ม ซึ่งเมื่อมีพื้นที่สาธารณะเพิ่ม การจัดงานก็จะไม่กระจุกอยู่แค่บางพื้นที่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวก็จะกระจายกันมากขึ้น เป็นผลดีทั้งในแง่เศรษฐกิจ และความหนาแน่น
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสถานที่ Unseen มากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจจะเบื่อกับพื้นที่เดิมๆ ดังนั้น กทม. จะพยายามสร้างอัตลักษณ์ให้กระจายไปในทุกชุมชนให้มากที่สุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายในพื้นที่กรุงเทพฯ
"ในช่วงนี้กรุงเทพฯ มีชีวิตชีวา ซึ่งไม่ใช่เพราะ กทม.เพียงฝ่ายเดียว แต่มีหลายหน่วยงานร่วมมือกันในการจัดกิจกรรม ทำให้เมืองมีสีสัน และสามารถกระจายกิจกรรมไปในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนข้อกังวลในเรื่องของการซื้อ-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ห้ามทำผิดกฎหมาย ความสนุกของเทศกาลไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ เพราะความสนุกไม่ต้องมีสุราก็ได้ และงานของเราก็เน้นประเพณีวัฒนธรรมของไทย ไม่ได้เน้นเรื่องสุราอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว