พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้กำชับไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งติดตามแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ดำเนินการไปในระยะหนึ่งแล้ว โดยจะต้องขอความร่วมมือกันในระดับรัฐบาล เพราะยอมรับว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดความร้อน หรือ Hotspot เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ดังนั้นการจะดำเนินการอะไรต่างๆ ต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจจะเกิดผลกระทบกับหลายคน พร้อมเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรจะต้องเป็นวาระอาเซียน เนื่องจากไทยมีข้อมูลอยู่แล้ว ว่าเกิดในประเทศเท่าไร และอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเท่าไร ดังนั้นจะต้องมีการหารือร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน
"รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างมากที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหา ก็ได้กำชับทั้งในระดับพื้นที่และระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นให้ช่วยกันทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด ก็ถือว่าดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่ จุด Hotspot ลดลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ มีการเผาวัชพืชอยู่ จึงต้องขอความร่วมมือให้มากที่สุด แต่สิ่งสำคัญเกษตรกร คนไทย จะต้องช่วยเหลือกันให้มากกว่าเดิม ไม่ฉะนั้นจะส่งผลกระทบในด้านอื่นอีกด้วย ดังนั้นการจะทำสิ่งต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้มีการหารือเรื่องการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยจากรายงานสถานการณ์ล่าสุดจาก GISTDA พบว่า ไทยพบจุดความร้อน 5,396 จุด เมียนมา พบจุดความร้อน 6,877 สปป.ลาว พบจุดความร้อน 4066 จุด กัมพูชา พบจุดความร้อน 739 จุด และเวียดนาม พบจุดความร้อน 626 จุด
สำหรับประเทศไทย พบจุดความร้อน หรือ Hotspot ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,024 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,790 จุด พื้นที่เกษตร 251 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 167 จุด พื้นที่สปก. 157 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อน มากที่สุด คือ น่าน 555 จุด แม่ฮ่องสอน 429 จุด อุตรดิตถ์ 382 จุด
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง ในช่วงวิกฤต เช่น
- กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าในระดับวิกฤติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรง มีการระดมทรัพกำลัง เครือข่าย อาสาสมัคร อุปกรณ์เครื่องมือ อากาศยานในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และปฏิบัติดับไฟอย่างเข้มข้น
- กระทรวงมหาดไทย ได้มีการกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ และให้บูรณาการหน่วยงานในทุกพื้นทำการลาดตะเวณ เฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้ลดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้ด้วย
- กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ได้มีการพิจารณามาตรการเรื่องการจำกัดเวลา พื้นที่ และปริมาณรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง และให้ทุกหน่วยงาน บังคับใช้กฏหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติฝนหลวงทำไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง
- กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ได้มีการจัดให้มีการทำห้องปลอดฝุ่น และแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเท่าที่จำเป็น รวมถึงยารักษาโรคในพื้นที่ รวมถึงเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข และเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งหน่วยงานบริการตรวจสุขภาพประชาชน และจัดบริการคลีนิคมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำแนะนำและดูแลสุขภาพกับประชาชน
- กระทรวงต่างประเทศ ได้มีการสั่งการไปยังเอกอัครราชทูตในประเทศเพื่อนบ้าน ให้เร่งประสานขอความร่วมมือในการลดการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร
นอกจากนี้ ในฐานะรมว.กลาโหม ได้ใช้ช่องทางทหารในการประสานงาน ทางด้านหน่วยงานด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะขอความร่วมมือในการลดการเผาในพื้นที่เกษตร และได้ขอความร่วมมือบริษัทเอกชน ที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยดูแลพื้นที่เกษตรด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มีพูดถึงเรื่องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในขณะนี้มีการจดทะเบียนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดปัญหา PM 2.5 พร้อมทั้งให้มีการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมทั้งบรรจุสิทธิประโยชน์สำหรับมาตรการการลงทุน เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และรัฐบาลได้มีการส่งเสริมจากพลังงานฟอลซิลไปเป็นพลังงานสะอาดด้วย