พร้อมทั้งให้บริษัทต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมทั้งค่าเสียหายทางจิตใจ 30,000 บาท และบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ย 5% ต่อปีนับจากวันฟ้อง
นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ดูแลคดี กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลมองว่ารถยนต์เป็นสินค้าที่ใช้บนท้องถนนและหากเครื่องยนต์ของรถคันนั้น ๆ ชำรุดบกพร่องจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงกับผู้ขับขี่และคนที่สัญจรบนท้องถนน
การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นอาจเรียกได้ว่าเป็นคดีกลุ่มแบบเปิด (Class Action) ที่ศาลคุ้มครองผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นดังกล่าวทุกคันที่ผลิตในปี 57-61 กล่าวคือ ผู้ที่ใช้รถยนต์ในรุ่นและปีการผลิตข้างต้นที่พบปัญหาการใช้งานถือว่าเป็นผู้เสียหายทั้งหมดและต้องได้รับการชดเชยเยียวยาเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาผู้ใช้รถรุ่นนี้หลายรายพบปัญหาในการใช้งาน โดยเฉพาะจังหวะที่จะเร่งแซง แต่เครื่องยนต์กลับสั่น รวมถึงไม่สามารถเร่งเครื่องยนต์ได้ ขณะที่บางรายมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากปัญหาเครื่องยนต์ และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง คนส่วนใหญ่จะมองว่าผู้ขับขี่ประมาท แต่ไม่มีใครรู้ว่าในความเป็นจริงแล้วเกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์หรือรถยนต์ที่ขับ
จากคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องที่ดีและเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่จะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภคหรือลูกค้าของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะพยายามหลีกเลี่ยงและหลบหลีกความรับผิดชอบ
"ในหลาย ๆ คดี เมื่อเกิดเกิดสภาพบังคับโดยคำพิพากษาของศาลขึ้นและหากผู้ประกอบการหรือบริษัทไม่น้อมรับหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลให้ศาลชั้นสูงมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภคและอาจมีคำสั่งลงโทษ โดยเพิ่มค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยบริษัทจะต้องจ่ายให้กับผู้บริโภคอีก ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริโภคต้องการเห็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง" นายจิณณะ ระบุ
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่ใช้รถรุ่นดังกล่าวเก็บหลักฐานการซ่อมรถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่ระบุอาการเครื่องสั่น เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น รวมถึงใบเสร็จค่าซ่อมรถยนต์ทั้งหมด และรอติดตามความคืบหน้าการประกาศรับชำระหนี้จากศาลต่อไป