ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยจะก้าวเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอดหรือ Super-Aged Society ในปี 72 เร็วขึ้นกว่าเดิม หลังประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 63-65 อัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดต่ำลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ จะกระทบรายได้สุทธิของภาคธุรกิจ รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ ให้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ประกอบการอาจต้องเล็งตลาดที่กว้างกว่าระดับในประเทศ ควบคู่กับการปรับทักษะแรงงานและใช้เทคโนโลยี ซึ่งผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เร็วและมองอย่างครบด้าน มีโอกาสสร้างรายได้สุทธิให้เติบโต
ไม่เพียงภาคธุรกิจ ประเด็นนี้คงเป็นโจทย์สำคัญที่รอการจัดการของรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน เนื่องจากจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงแผนงานด้านสวัสดิการต่างๆ ในช่วงข้างหน้า
สำหรับไทยนั้น มีประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นกัน ซึ่งคงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งจัดการ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นนี้ ดังนี้
1.ประชากรไทยมีจำนวนลดลงแล้วตั้งแต่ปี 63 ซึ่งเร็วขึ้นถึง 9 ปีเมื่อเทียบกับที่เดิมเคยคาดกันว่าจะเริ่มลดลงในปี 72 และจำนวนที่ลดลงนี้เกิดขึ้นติดต่อกันแล้ว 3 ปีในช่วงปี 63-65 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มแซงหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 64-65 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด
2.อัตราการเกิดและภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่เพียง 0.76% ส่วนภาวะการเจริญพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 1.33 ขณะที่ ประชากรรุ่น Baby Boomer (เกิดช่วงปี 06-26) ราว 1 ล้านคน กำลังจะเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีเป็นจำนวนมากในปี 66 นี้
3.การปรับเพิ่มอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์อาจไม่ง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอนสูง ประชาชนมีความกังวลต่อความไม่มั่นคงด้านรายได้ในยุคค่าครองชีพสูง รวมถึงความกังวลต่อเหตุการณ์แวดล้อมทั้งการเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เกิดค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีบุตร
ทั้งนี้ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะตามมา เนื่องจาก
- รายได้ธุรกิจอาจถูกกระทบหากลูกค้ายังคงใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิม แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ หมายความว่า หากธุรกิจต้องการรักษาการเติบโตของรายได้ไว้ จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้ลูกค้าหนึ่งคนใช้จ่ายมากขึ้นมากเมื่อเทียบในอดีตที่ยังอาศัยการเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ ซึ่งการใช้จ่ายของลูกค้าจะเพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่าของสินค้าและบริการนั้นๆ หรือมิฉะนั้น ลูกค้าก็ต้องมีกำลังซื้อมากขึ้น มีเงินออมสะสม หรือมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ขณะที่ กำลังซื้อผู้บริโภคในปัจจุบันยังคงมีความเปราะบาง ฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตซ้อนวิกฤต เงินออมมีน้อย มีหนี้ที่สูง ผลตอบแทนจากการลงทุนมีความผันผวน ซึ่งไปข้างหน้า สถานการณ์ก็คงจะไม่สามารถพลิกเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว
- รูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอต่อลูกค้าต้องมีการปรับเปลี่ยน จากผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับเด็กและวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่า หากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ผู้สูงวัยในราคาที่เอื้อมถึงได้ (ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังมีข้อจำกัดด้านรายได้และกำลังซื้อ) ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้เติบโต ขณะเดียวกัน สินค้า และบริการที่เจาะประชากรเด็กและวัยทำงาน ก็คงต้องพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มด้านคุณภาพท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ไม่เพียงการวางตำแหน่งทางการตลาดผ่าน Fragmented Segmentation เท่านั้น ผู้ประกอบการอาจเล็งกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่าตลาดในประเทศ โดยอาจพิจารณาการเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมสินค้าไทยหรือตลาดระดับภูมิภาค เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
- ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนกำลังแรงงานและการปรับมาใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร แน่นอนว่า เมื่อประชากรน้อยลง ธุรกิจคงต้องแข่งกันเสนอค่าตอบแทนแรงงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ/ทักษะสูง/ทำได้หลายหน้าที่ เร่งพัฒนาทักษะหรือผลิตภาพแรงงานให้เท่าทันความต้องการของตลาดที่ซับซ้อนขึ้น หรือถ้าจะใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร ก็ต้องมีเงินลงทุน สะท้อนว่า ต้นทุนธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของต้นทุนรวม
ตัวอย่างข้อเสนอการปรับตัวของธุรกิจ ค้าปลีก บริการสุขภาพ -นำเสนอสินค้าเพื่อสุขภาพในช่องทางที่เหมาะสม -สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการให้บริการต่อสมาชิกในครอบครัว เช่น เข้ากับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงของผู้สูงวัย ที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงวัยที่อาจมีข้อจำกัดด้านเวลา คำนึงถึงความสะดวกในการใช้บริการ -เจาะลูกค้าต่างประเทศ เช่น Long-Term Resident Visa (รถเข็น ทางลาด ชั้นวางสินค้า ขนาดตัวอักษร -เตรียมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในหลากหลายภาษาควบคู่กับการปรับ บอกสรรพคุณ ฯลฯ) ประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น ลดระยะเวลาการรอคิว -ขยายตลาดไปนอกประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน การใช้ Telemedicine, Virtual Healthcare ที่ออกแบบมาอย่างดี ที่นิยมสินค้าไทย ประเทศอื่นๆ ที่ก็เป็นสังคมสูงอายุ -ปรับใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ Vending Machine ที่ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมการรองรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโจทย์อีกหลายด้านพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น การปรับตัวได้เร็วและมองได้ครบถ้วน ย่อมสร้างความได้เปรียบและเป็นโอกาสจะเพิ่มรายได้สุทธิ ซึ่งแต่ละธุรกิจ คงมีหน้าตักและ Solutions ที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ไม่เพียงภาคธุรกิจเท่านั้น การเป็นสังคมสูงอายุสุดยอดที่อาจมาเร็วขึ้นนี้ ก็นับว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การวางแผนงบประมาณทั้งด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เบี้ยผู้สูงอายุ สวัสดิการแรงงาน และที่สำคัญสถานะความเพียงพอของกองทุนประกันสังคมในระยะข้างหน้า