วิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน หรือ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว และอาจมีความเสี่ยงจะยิ่งแย่ลงในช่วงปีข้างหน้า ถ้าไม่เร่งจัดการ เมื่อปรากฏการณ์ลานีญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กำลังจะปรับไปสู่เอลนีโญติดต่อกันในไม่ช้านี้ และอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากภาวะโลกรวน โดยสถิติย้อนหลังจากสถานีวัดตรวจคุณภาพอากาศ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สะท้อนค่าเฉลี่ย PM2.5 ช่วงเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี ขณะที่จุดความร้อนที่นับได้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นมากสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
นอกจากการทำกิจกรรมต่างๆ จะมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นมลพิษไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างประเภทต่างๆ แล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มักจะทำให้ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป ก็คือการเผาในภาคเกษตรหรือพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว (นาปรัง) อ้อย ซึ่งมักจะมีการเผาก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกใหม่ หรือเป็นการเผาไปเก็บเกี่ยวไป
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตพืชไร่ต่างๆ ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่ยังมีรองรับท่ามกลางเหตุการณ์ในยูเครนที่ยืดเยื้อ และวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปรัง และอ้อย ในภาคเหนือของไทย ในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นรวมกันอีกราว 5.28 ล้านตันจากปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 รอบนี้ อาจก่อให้เกิดความสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เมษายน 2566) คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท จากปกติที่ตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (9 จังหวัด) เป็นมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทในช่วงเทศกาลนี้ของแต่ละปี โดยสะท้อนจากผลสำรวจการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เลือกจังหวัดทางภาคเหนือลดลงเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมักเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวและร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ขณะที่ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักยังประสบกับสถานการณ์ที่อัตราการจองที่พักล่วงหน้าต่ำและบางส่วนถูกยกเลิกการจอง
ไม่เพียงภาคเหนือเท่านั้น พื้นที่อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกันในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด หรือแม้กระทั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะเดียวกัน นอกจากผลกระทบด้านการท่องเที่ยวแล้ว วิกฤตฝุ่น PM2.5 ยังสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ อีกด้วย ที่สำคัญคือ ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งยากที่จะประเมินความสูญเสีย ออกมาเป็นมูลค่าได้ เนื่องจากไม่เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ผลกระทบอาจสะสมและนำมาสู่โรคระบบทางเดินหายใจในระยะยาว โดยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่น่าเป็นห่วงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
ดังนั้น การเร่งจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อดูแลคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านซัพพลายเชนในภาคการผลิตและภาคการบริการไปสู่กิจการที่ยั่งยืนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากปล่อยไว้ สถานการณ์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะยิ่งมากขึ้นอีก