ยอดอุบัติเหตุสะสม 6 วันช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ 2,005 คน ตาย 236 ราย

ข่าวทั่วไป Monday April 17, 2023 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยอดอุบัติเหตุสะสม 6 วันช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ 2,005 คน ตาย 236 ราย

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 263 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 268 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 6 วัน (11 - 16 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,008 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 236 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,005 คน

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 16 เม.ย.66 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 263 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 268 คน

ยอดอุบัติเหตุสะสม 6 วันช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ 2,005 คน ตาย 236 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 39.16% ดื่มแล้วขับ 23.95% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.39% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง 42.21% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 29.66% บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง 81.37% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-01.00 น. 9.87% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี 22.37% โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ชุมพร (15 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (5 ราย) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,857 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,238 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 322,570 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 48,067 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 14,177 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 13,127 ราย

ขณะที่สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (11-16 เม.ย.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,008 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 236 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,005 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (62 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (20 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (63 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด

นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ยังมีประชาชนบางส่วนอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ศปถ.ได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนที่มีระยะทางยาว พร้อมคุมเข้มการขับรถเร็วและป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน รวมถึงขับเคลื่อนมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เสี่ยงและอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตอย่างเข้มข้น มุ่งลดพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

ขณะที่ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันที่ 11-16 เม.ย.66 พบว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและสภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปลอดภัยทางถนน เพื่อชี้เป้าแนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ บางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ยังคงมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง อาจทำให้มีต้นไม้หักโค่นกีดขวางการจราจร สภาพถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยไม่ดี จึงขอฝากเตือนให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผบ.ตร.) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ กล่าวถึงสถิติสะสมในห้วง 6 วัน ควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย.66 ว่า มีการเกิดอุบัติเหตุ 2,008 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 263 ครั้ง (+16.14%) โดยลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 307 ครั้ง (-12.77%) สถิติผู้เสียชีวิต 236 ราย เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 36 ราย (+28.57%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 33 ราย (-16.90%) สถิติผู้บาดเจ็บ 2,005 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 268 ราย (+8.94%) โดยลดลง กว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 311 คน (-13.61%) จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จ.น่าน 62 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุด ในพื้นที่ กทม. 5 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จ.น่าน 63 ราย

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 37.45% และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย 60.15% โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด 39.89% สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 80.49% ซี่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วง 19.00-20.00 น. โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 432,119 ราย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 162,209 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 94,672 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 84,813 ราย เมาแล้วขับ 21,122 ราย ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ