กระทรวงสาธารณสุข คาดสัปดาห์หน้ายังต้องเฝ้าระวัง 17 จังหวัดภาคเหนือค่าฝุ่น PM 2.5 ยังอยู่ระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กำชับติดตามสถานการณ์ หากเกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ให้ประกาศธงเตือนภัยสีแดง 4 เวลา แจ้งเตือนความเสี่ยงสุขภาพ ขณะที่พบผู้ป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อาการแสบจมูก แสบคอ แสบตา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของประเทศไทย คาดการณ์ช่วง 7 วันข้างหน้า (วันที่ 18-24 เม.ย.) ว่า 17 จังหวัดภาคเหนือ ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงรายและน่าน
โดยวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา พบเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ สูงสุดที่ภาคเหนือ 48-234 มคก./ลบ.ม. จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงราย 279 จุด เชียงใหม่ 215 จุด และน่าน 115 จุด ส่วนภาคกลางและตะวันตก 42-93 มคก./ลบ.ม. กทม. และปริมณฑล 39-69 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดต่อกันเกิน 3 วัน 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม) เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ) แพร่ (อ.เมือง) พะเยา (อ.เมือง) ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ) และแม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย)
นพ.โอภาส กล่าวว่า หากค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 150 มคก./ลบ.ม. พื้นที่จะปฏิบัติตามแนวทางธงเตือนภัยสีแดง โดยผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งเตือน 4 ครั้ง/วัน เวลา 07.00 น. 12.00 น. 15.00 น. และ 18.00 น. ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รายงานสถานการณ์ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพประชาชน รักษาเบื้องต้น ให้บริการคลินิกมลพิษออนไลน์ ประสานให้งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กิจกรรมวิ่ง และประสานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา งดกิจกรรมกลางแจ้งหรืองดการเรียนการสอนหากจำเป็น
ส่วนทีม 3 หมออาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเสี่ยงและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว โดยส่วนกลางได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ไปยังเขตสุขภาพที่ 1 ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 แล้วจำนวน 122,000 ชิ้น และเขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 50,000 ชิ้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังโรคจากมลพิษทางอากาศ พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 2,472,492 ราย สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 184,465 ราย เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจมากสุด รองลงมา กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ แนวโน้มพบกลุ่มอาการระบบตา และหูคอจมูก เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงพบกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอาการเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นอาการเล็กน้อย 3 อันดับแรก คือ แสบจมูก 34.23% แสบคอ 24.32% และแสบตา 20.72%
สำหรับการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการสัมผัสฝุ่น ช่วงระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 66 พบว่า ภาพรวมปฏิบัติตัวได้ดีเพิ่มขึ้นเป็น 97% โดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 100% ไม่เผาขยะ กระดาษ จุดธูป เพิ่มขึ้นเป็น 94.6% ปิดประตูหน้าต่างเพิ่มขึ้นเป็น 99.1% งดออกกำลังกายกลางแจ้งเพิ่มขึ้นเป็น 93.7% แต่การลดระยะเวลาออกนอกบ้านลดลงเหลือ 87.4% และการตรวจเช็กคุณภาพอากาศลดลงเหลือ 76.6%
ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ ยังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ระยะปกติ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง 5 โรค ส่งเสริมสนับสนุนการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง เปิดคลินิกมลพิษและคลินิกมลพิษออนไลน์ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)