กระทรวงคมนาคม สรุปผลการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2566 สามารถจัดบริการระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง พบการเดินทางของประชาชนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 โดยมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 16 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 84.49% จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ลดลง 3.68%
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินทางเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 16,480,812 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 84.49% (เปรียบเทียบกับระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2565) แบ่งเป็น ทางถนน 6,802,927 คน-เที่ยว ทางราง 6,359,690 คน-เที่ยว ทางน้ำ 1,617,409 คน-เที่ยว และทางอากาศ 1,700,786 คน-เที่ยว ปริมาณการจราจรเข้า - ออกกรุงเทพฯ รวม 6,777,659 คัน เพิ่มขึ้น 1.56% และปริมาณการจราจรภายในกรุงเทพฯ (บนทางพิเศษ) 9,547,260 คัน เพิ่มขึ้น 9.75%
กระทรวงฯ ได้ดำเนินมาตรการอำนวยความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนน โดยมีมาตรการกำกับผู้ขับขี่รถสาธารณะ ตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อม ปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพดี การป้องกันปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ลดลง 3.68% โดยเกิดอุบัติเหตุทางถนน 1,317 ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.73% มีผู้เสียชีวิต 183 ราย ลดลง 3.68% บาดเจ็บ 1,467 ราย เพิ่มขึ้น 16.71%
สาเหตุของเกิดการอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 58.54% บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 65.53% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 49.20% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 47 ครั้ง สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ 5 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ทางราง 2 ครั้ง ส่วนทางน้ำและทางอากาศไม่มีอุบัติเหตุ
กระทรวงฯ ได้กำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ด้วยการตรวจความพร้อมของสถานี ยานพาหนะ และผู้ขับขี่ของการขนส่งสาธารณะอย่างเข้มข้นทุกวัน สำหรับการขนส่งทางบกและทางราง ได้ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ 96,990 คัน และพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ 96,990 คัน ตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงานรถไฟ 722 คน ไม่พบข้อบกพร่อง ไม่พบสารเสพติด และแอลกอฮอล์ สำหรับการขนส่งทางน้ำ ได้ตรวจความพร้อมท่าเรือ 165 แห่ง ไม่ผ่าน 1 แห่ง และตรวจเรือ 6,761 ลำ พบข้อบกพร่อง 15 ลำ ตรวจพนักงานประจำเรือ 8,749 คน พบสารเสพติด 1 คน ซึ่งได้สั่งการให้เปลี่ยน/แก้ไขทันที
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำข้อมูลการให้บริการขนส่งสาธารณะและสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลวันหยุดยาวให้เกิดประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางและถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยสูงสุดต่อไป
นายอธิรัฐ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีการจำหน่ายตั๋วโดยสารเกินราคาในระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถตู้โดยสาร รถโดยสารประจำทาง และการเดินทางทางอากาศ โดยให้ประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และแรงสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากปกติ
โดยวิทยุการบินฯ ได้สรุปปริมาณเที่ยวบินทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (วันที่ 11-17 เมษายน 2566) มีเที่ยวบินรวม 13,569 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 1,938 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของ ปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนได้รับผลกระทบจากโควิด19 ประมาณ 28%
โดยท่าอากาศยานที่มีปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออกสูงสุดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ยังคงเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฉลี่ยประมาณวันละ 827 เที่ยวบิน ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีเที่ยวบินเข้า-ออก เฉลี่ยวันละ 543 เที่ยวบิน
สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออกสูงสุด ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต เฉลี่ยวันละ 254 เที่ยวบิน รองลงมา คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เฉลี่ยวันละ 175 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานสมุย เฉลี่ยวันละ 82 เที่ยวบิน ตามลำดับ
ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลดังกล่าว ส่งผลให้ภาพรวมการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศเป็นไปอย่างปลอดภัยสูงสุด คล่องตัว สามารถอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย