นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งตนได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามสภาพอากาศแนวโน้มปริมาณฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการเก็บกัก
พร้อมกันนี้ได้ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กำหนดไว้ ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก 3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และ 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม
ปัจจุบัน (27 เม.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,553 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,612 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,470 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,774 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 24,786 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 90% ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,959 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 99% ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 100% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็น 96% ของแผนฯ