นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) หลังจากผลสำรวจพบทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยะอาหารเหล่านี้ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ทั้งที่อาหารบางอย่าง บางประเภท สามารถนำมาบริโภคต่อได้ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ทำให้หลาย ๆ ชาติได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลกและผู้คน จึงได้ผลักดัน และออกกฎหมายให้มีการนำอาหารที่เดิมจะต้องทิ้งเป็นขยะอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์
โดยจากการศึกษา พบว่า มีรัฐบาลหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร กำหนดให้ร้านค้าปลีกตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ห้ามทิ้งและทำลายอาหารที่ยังไม่หมดอายุ ให้ใช้วิธีทำสัญญากับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร เพื่อบริจาคและนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ และมีมาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ, สหรัฐฯ ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้บริจาคอาหารโดยสุจริต ไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญา หากอาหารที่บริจาคไปเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และปัจจุบันมีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งผลิตอาหารกว่า 1.2 ล้านแห่งทั่วประเทศ มีหน่วยรับบริจาคกว่า 5,000 แห่ง และเกาหลีใต้ ได้เปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราคงที่ เป็นเก็บตามสัดส่วนปริมาณขยะที่ทิ้งและให้แยกขยะ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ เพื่อจูงใจให้ครัวเรือนลดปริมาณขยะ เรียนรู้การแยกขยะ
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าภาคเอกชนในหลายประเทศ ได้มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอาหาร เช่น สหรัฐฯ มีแอปพลิเคชัน Misfits Market ให้คนซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่คุณภาพดีแต่ไม่สวยงาม ไม่สมบูรณ์ ในราคาถูกกว่าปกติ 40% มีแอปฯ Food for All ช่วยให้ซื้ออาหารได้ 1 ชั่วโมงก่อนร้านปิด ได้รับส่วนลดสูงสุด 80%, อังกฤษและไอร์แลนด์ มีแอปฯ FoodCloud เชื่อมโยงธุรกิจที่มีอาหารส่วนเกิน กับองค์กรการกุศลและชุมชนที่ต้องการอาหาร, สิงคโปร์มีแพลตฟอร์ม Treatsure ให้บริการบุฟเฟต์ใส่กล่อง (Buffet In A Box) ก่อนหมดเวลาบุฟเฟต์, เดนมาร์กมีแอปฯ Too Good To Go ช่วยให้ร้านอาหารและร้านขายของชำต่าง ๆ นำอาหารส่วนเกินมาขายแบบลดราคา และสหราชอาณาจักรมีแอปฯ Nosh ใช้ AI คำนวณวันหมดอายุของอาหาร และติดตามพฤติกรรมการซื้ออาหาร โดยจะช่วยวางแผนการซื้อของ และแนะนำสูตรอาหารจากวัตถุดิบที่มีในตู้เย็น เพื่อช่วยในการตัดสินใจก่อนออกไปเลือกซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของไทย ปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ที่ได้บรรจุแนวทางการลดปริมาณขยะอาหาร การส่งเสริมการแบ่งปันอาหารส่วนเกิน และการให้ความรู้เพื่อลดการเกิดขยะอาหารในส่วนของผู้บริโภค
ส่วนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยมีองค์กรและธุรกิจที่ให้บริการเชื่อมโยงอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการ อาทิ มูลนิธิรักษ์อาหาร หรือ SOS Thailand รับบริจาคอาหารจากร้านค้าปลีก หรือโรงแรม เพื่อนำมาส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ทั้งโรงเรียน ชุมชน และสถานสงเคราะห์ มีแอปฯ Yindii และแอปฯ Oho! เป็นแพลตฟอร์ม สั่งอาหารคุณภาพดีที่เหลือจากการขายหน้าร้านอาหาร โรงแรม และซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ถูกกว่าราคาจริง 50-80% ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมแล้วกว่า 200-500 แห่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดโอกาสการเกิดขยะอาหาร ทั้งต้นน้ำ และกลางน้ำของห่วงโซ่อุปทานอาหาร อาทิ นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ใช้แนวคิดตลาดนำการผลิต เพื่อบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรให้มีความสมดุล การบริหารจัดการสินค้า และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ที่เชื่อมโยงให้ผลผลิตจากตลาดสินค้าเกษตรส่งถึงมือผู้บริโภคก่อนจะเน่าเสีย และร่วมกับภาคธุรกิจจัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการร้านและสต๊อกวัตถุดิบ เพื่อลดการเกิดขยะอาหารจากร้านค้าปลีก โดยเห็นว่ายังมีช่องว่างการพัฒนาที่ภาครัฐสามารถพิจารณาหาแนวทางและกลไกช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการ และภาคธุรกิจยังสามารถแสวงหาโอกาสและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอาหารส่วนเกิน เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะอาหารได้ โดยยกระดับการดำเนินการโดยอาศัยการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีจากหลายประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในองค์รวม และนำไปสู่การลดปริมาณขยะอาหารในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานต่อไป
ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป้าหมายย่อยที่ 12.3 "ร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ทั้งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียอาหารหลังเก็บเกี่ยว" โดยรายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 (Food Waste Index Report 2021) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารกว่า 931 ล้านตัน เทียบได้กับรถบรรทุก 40 ตัน จำนวน 23 ล้านคัน ซึ่งเกิดจากผู้บริโภค 61% ผู้ประกอบการ 26% และผู้จำหน่ายอาหาร 13% โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า สร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกกว่า 830 ล้านคน กำลังเผชิญกับความอดอยากและขาดสารอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า หากลดปริมาณอาหารเน่าเสียหรือเหลือทิ้งทั่วโลกลงได้ 25% จะสามารถเลี้ยงดูผู้คนได้อีก 870 ล้านคน ขณะที่ไทยรายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 ประเมินว่ามีปริมาณขยะอาหาร 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่าในปี 2563 ไทยมีปริมาณขยะอาหาร 5.58 ล้านตัน หรือ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ไทยมีสัดส่วนผู้หิวโหยสูงถึง 9% ของประชากรทั้งประเทศ