กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าปี 66 มูลค่าของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรมวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมผลักดันผู้ประกอบการผลิตสมุนไพร ให้มีศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การขยายตัวของตลาดสมุนไพรสอดคล้องกับนโยบายที่ชัดเจนของประเทศในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพร ที่นำเอาจุดเด่นของประเทศที่เป็นแหล่งพันธุกรรมสำคัญของโลกโดยเฉพาะพืชสมุนไพร มาพัฒนาเพื่อให้เกิดรายได้ของประเทศ แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายในปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบสมุนไพรของประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 1 เท่าตัว มุ่งเกิดรายได้กว่า 100,000 ล้านบาท และสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันจะนำไปสู่ความสาเร็จในการพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถแข่งขันทางอุตสาหกรรมสมุนไพรในระดับนานาชาติได้
สำหรับปี 66 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและมีการนำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพ ด้วยการพึ่งตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถสร้างรายได้ และในปี 66 ได้ตั้งเป้ามูลค่าของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรับแจ้ง และรับรองผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่รัฐต้องส่งเสริมตามขอบเขตของ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 รวมถึงการจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ผลิตสมุนไพร และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
รวมถึงดำเนินการให้คำปรึกษา และจัดทำชุดสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในด้านคุณภาพการผลิต การจัดการ และการตลาด โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการตามภารกิจ เช่น การอบรมส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสมุนไพร จำนวนกว่า 2,189 ราย การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจการค้า ซึ่งเกิดการเจรจาทางธุรกิจจำนวน 189 คู่ เกิดมูลค่าทางการตลาดกว่า 228 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้มีการส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการส่งเสริมด้านการตลาด มีเงินสะพัดกว่า 375 ล้านบาท รวมถึงมีการเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการสมุนไพรผ่านรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (Premium Herbal Products) โดยมีบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด จำนวน 1,057 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการคัดเลือก จำนวน 526 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการสมุนไพรของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ